รีเซต

รพ.สนามธรรมศาสตร์ เล็งนำเข้ายารักษาโควิด คุณภาพดีกว่า 'ฟาวิพิราเวียร์'

รพ.สนามธรรมศาสตร์ เล็งนำเข้ายารักษาโควิด คุณภาพดีกว่า 'ฟาวิพิราเวียร์'
ข่าวสด
18 สิงหาคม 2564 ( 11:13 )
71

 

รพ.สนามธรรมศาสตร์ เล็งนำเข้ายารักษาโควิด คุณภาพดีกว่า ‘ฟาวิพิราเวียร์’ รวมทั้งนำเข้าเวชภัณฑ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกับโควิด19

 

 

เมื่อวันที่ 18 ส.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า วันอังคารที่ 17 สิงหาคมวันที่ 129 ของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และวันที่ 68 ของศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์รังสิต

 

 

วันนี้มีผู้ป่วยใหม่จากโควิด 20,318 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคร้ายนี้อีก 239 คน ดูเหมือนจะเป็นตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงสุดเท่าที่เคยมีมา ข่าวดีก็คือเราน่าจะอยู่บนจุดสูงสุดของการระบาดเวฟนี้ ที่แถว ๆ 20,000 + จริงๆ อย่างที่เคยคาดหวังมาสองสัปดาห์แล้วล่ะ แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยระดับนี้ไม่น่าจะถือว่าเป็นข่าวดีเลย แต่มองในมุมความหวังก็คือ เดือนต่อไปเรามีโอกาสที่จะเห็นจำนวนผู้ป่วยใหม่ลดลงได้นะ แต่สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตเมื่อดูตัวเลขผู้ป่วยหนักทั่วประเทศแล้ว เราคงต้องทำใจยอมรับว่าเราคงจะต้องเห็นผู้เสียชีวิตในระดับวันละ 200+ ไปอีกตลอดทั้งเดือนทีเดียวล่ะ

เมื่อวานนี้ สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมติให้ตราข้อบังคับของมหาวิทยาลัยว่าด้วยการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์ระบาดของโควิด19 ที่ให้อำนาจมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และคณะวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพจำนวนมาก

ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการรักษาพยาบาล การป้องกันและดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อหรือการระบาดของโควิด19 เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถจัดหา สั่งซื้อหรือร่วมมือกับองค์กรต่างๆทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้ได้มาซึ่งยาเวชภัณฑ์และวัคซีน เพื่อใช้ในการดูแลรักษาพยาบาลหรือป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับโควิด19 ได้

ข้อบังคับฉบับนี้เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหน่วยงานลำดับที่หกที่จะสามารถนำเข้ายา วัคซีน และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษาโรคที่เกี่ยวกับโควิด19 ได้ โดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่อยู่เดิมทั้งห้าแห่ง ได้แก่ กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ธรรมศาสตร์ไม่ได้มีความประสงค์และไม่มีศักยภาพที่จะนำเข้าวัคซีน มาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัคซีนของประเทศที่เป็นอยู่ในขณะนี้อย่างแน่นอน เพราะหากเราไปจองซื้อวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ อย.ของไทยในขณะนี้ กว่าจะมีวัคซีนส่งมาให้ก็คงประมาณไตรมาสที่สองของปี 2565

เพราะในขณะนี้ตลาดวัคซีนจากต่างประเทศเป็นตลาดของผู้ขาย แต่เราคาดหวังว่า การที่คนไทยจะต้องอยู่มีชีวิตต่อไปในสภาวะ New Normal กับโควิด19 ไปอีกอย่างน้อยสัก 2 ปี คงทำให้จะต้องมีการฉีดวัคซีนโควิดเป็นบูสเตอร์ เหมือนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่พวกเราจะต้องฉีดกันทุกปีในขณะนี้ และจะมีความต้องการวัคซีนอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ

ดังนั้นหากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสักแห่งหนึ่ง จะเสนอตัวมาทำหน้าที่แทนเครือข่ายโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยของรัฐ (UHOSNET) ที่มีอยู่แล้ว ในการดำเนินการจองซื้อหรือนำเข้าวัคซีนเข็มที่ 3 หรือ 4 ในปีหน้า แทนที่จะปล่อยให้มีคอขวดเรื่องการจองซื้อวัคซีนอยู่ที่องค์การเภสัชกรรมเท่านั้น ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และการศึกษาวิจัย ตลอดจนการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโนโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงที่สุดของประเทศได้

นอกจากนั้น ความมุ่งหวังของพวกเราในเรื่องนี้ ในสถานการณ์เฉพาะหน้าจะไปอยู่ที่การนำเข้ายา สำหรับรักษาดูแลผู้ป่วยโควิดที่มีงานทางด้านการวิจัยทางคลินิกที่ประสบความสำเร็จแล้วในต่างประเทศรองรับ เพื่อนำเข้ามาใช้โดยเร็ว เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิดจำนวนมากที่อยู่ในโรงพยาบาลของเรา ที่อาจจะมีคุณภาพหรือประสิทธิภาพที่ดีกว่า Favipilavir

ตลอดทั้งการนำเข้าเวชภัณฑ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกับโควิด19 อีกหลายรายการ เช่น ชุดตรวจโควิดโดยการตรวจหาแอนติเจน-ATK หรือเวชภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งยังคงมีความขาดแคลนและมีราคาสูงมากอยู่ในขณะนี้ด้วย

ความคาดหวังของพวกเราที่นี่คือ เราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือรับผิดชอบให้การดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการระบาดของโรคนี้ ให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น มากกว่าที่จะไปทำหน้าที่แทนหน่วยงานหลักทางด้านสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการอยู่แล้วโดยตรงและมีทรัพยากรของรัฐทั้งในด้านบุคลากรและงบประมาณ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักอยู่เดิมแล้ว

น่ายินดีที่มีหน่วยงานหลักทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนมากแสดงความประสงค์และความต้องการที่จะเข้ามาร่วม หรือช่วยในการดำเนินงานในลักษณะเช่นนี้กับพวกเราแล้วหลายองค์กร

วันนี้ ที่ศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์ เราฉีดวัคซีน Astra ได้เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 1,705โดส พรุ่งนี้จะมีคนจองคิวไว้เพียงพันกว่าคนเท่านั้น จะเป็นวันที่มีคิวน้อยสุดวันหนึ่ง เพราะก่อนหน้านี้ เราไม่แน่ใจว่าเราจะมีวัคซีนให้ฉีดเพียงพอในช่วงนี้หรือไม่ จึงไม่ได้เติมชื่อผู้ที่ลงทะเบียนเอาไว้เข้าในคิวของวันพรุ่งนี้ด้วย แต่หลังจากพรุ่งนี้ จำนวนคิวจองวัคซีนก็คงจะไปอยู่ที่ราวๆ 2500 คนต่อวันตามเดิม

เรายืนยันว่าเราจะมีวัคซีนเพียงพอฉีดให้ไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาเท่านั้นนะ ถ้าหากไม่มีวัคซีน Astra ส่งมาเพิ่มให้อีก เราอาจจะต้องประกาศเลื่อนวันฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาออกไปเป็นครั้งแรกของที่นี่แล้วล่ะ ไม่อยากทำอย่างนั้นเลยนะ แต่ถ้าไม่มีวัคซีนมาเพิ่มอีกจาก คร. เราก็ไม่มีอะไรจะฉีดให้ได้แล้วจริงๆ

สำหรับโครงการ Home Isolation ของธรรมศาสตร์ วันนี้ เราเติบโตก้าวหน้าขึ้นไปตามลำดับในแง่ของการรับดูแลผู้ป่วยเพิ่มจำนวนขึ้นได้เรื่อยๆ ขณะนี้ เรามีความพร้อม และมีศักยภาพเพียงพอที่จะรับผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อ ไม่ว่าจะโดยวิธี ATK หรือ RT-PCR เข้าสู่การดูแลที่มาตรฐานของเราได้แล้วโดยตรง โดยไม่จำต้องถูกส่งตัวผ่านระบบโรงพยาบาลเหมือนในระยะที่ผ่านมา

โดยมีเบอร์โทรศัพท์ตรงของเราตามที่ได้แจ้งไว้ แต่ขอให้ติดต่อเข้าโครงการในเวลากลางวันนะ เพราะแม้เราจะมีทีมติดตามอาการและประเมินผู้ป่วยตลอด 24 ชม. หลายทีม แต่ระบบการลงทะเบียนรับเข้า กับการจัดยาและเวชภัณฑ์ให้ผู้ป่วยใหม่แต่ละราย ถูกกำหนดให้ดำเนินการในเวลากลางวันเท่านั้น

เราหวังว่า พวกเราที่นี่ จะพอเป็นความหวัง และพอจะช่วยเหลือผู้คนได้บ้าง ในการดูแลผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มมามากกว่าสองหมื่นคนในแต่ละวันของประเทศในขณะนี้
#โดมยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง