รีเซต

100วันรัฐประหารเมียนมา ผู้นำทหารพม่ายึดอำนาจมายา ไม่มีอยู่จริง

100วันรัฐประหารเมียนมา ผู้นำทหารพม่ายึดอำนาจมายา ไม่มีอยู่จริง
ข่าวสด
12 พฤษภาคม 2564 ( 15:03 )
114
100วันรัฐประหารเมียนมา ผู้นำทหารพม่ายึดอำนาจมายา ไม่มีอยู่จริง

100วันรัฐประหารเมียนมา - เอพี รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ในเมียนมา วาระครบ 100 วันนับตั้งแต่กองทัพเมียนมายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเมืองของนางออง ซาน ซู จี เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ว่า เป็นการยึดอำนาจที่ไม่มีอำนาจอยู่จริง เพราะถูกประชาชนต่อต้านอย่างหนักจนบริหารงานไม่ได้ แม้การจัดการให้รถไฟแล่นตรงเวลาก็ยังทำไม่ได้ เนื่องจากพนักงานรถไฟหยุดงานประท้วงการรัฐประหาร

 

 

 

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอารยะขัดขืนหยุดจัดหาคนทำงานในหน่วยงานด้านการแพทย์ของรัฐบาล ข้าราชการจำนวนมากหยุดงาน รวมถึงลูกจ้างของรัฐบาลและธนาคารเอกชน

 

 

มหาวิทยาลัยกลายเป็นแหล่งเพาะการต่อต้าน และไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา การเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาเริ่มล่มสลายเพราะครูนักเรียน และผู้ปกครองบอยคอตโรงเรียนรัฐ

 

 

รัฐบาลทหารยังคงเสแสร้งว่าควบคุมอำนาจได้อยู่ ภาพลวงตายังอยู่ โดยหลักๆ จากการปิดสื่ออิสระที่สำเร็จบางส่วน และทำให้ถนนไม่มีการชุมนุมประท้วงใหญ่จากการใช้อาวุธรุนแรงถึงตาย ผู้ประท้วงและผู้เห็นเหตุการณ์ถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคง

 

 

100วันรัฐประหารเมียนมา คล้ายซีเรีย

แม้กระทั่งช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา นางมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่า สถานการณ์ในเมียนมานั้นน่ากลัว

 

 

“เศรษฐกิจ การศึกษาและโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขของเมียนมามาถึงจุดใกล้ล่มสลาย ทำให้ประชาชนหลายล้านคนไม่มีวิถีชีวิต บริการพื้นฐานและความมั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้น”

 

 

เอพีระบุอีกว่า ไม่ประหลาดใจที่นิตยสารดิ อิโคโนมิสต์ ฉบับเดือนเมษายน วิจารณ์เมียนมาว่าเป็นรัฐล้มเหลวรายต่อไปของเอเชียและแสดงความเห็นว่า เมียนมากำลังมุ่งในทิศทางเดียวกับประเทศอัฟกานิสถาน

 

ข้าหลวงใหญ่ยูเอ็นเปรียบเทียบสถานการณ์ในเมียนมาต่างออกไป ว่ามีลักษณะของประเทศซีเรียในปี 2554 อย่างชัดเจน

 

 

มีการประท้วงอย่างสันติที่เผชิญกับการใช้กำลังปราบเกินเหตุอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน มีการกดขี่ที่ทารุณโหดร้ายต่อเนื่องต่อประชาชนของตัวเองนำไปสู่การจับอาวุธขึ้นสู้ของหลายคน ตามด้วยการใช้ความรุนแรงที่หมุนวนทั่วประเทศ

นายบิล ริชาร์ดสัน อดีตทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติหรือยูเอ็นที่มีประการณ์ทำงานกับเมียนมาอย่างยาวนานกล่าวว่า ขั้นเร่งด่วนที่สุดคือรัฐบาลและฝ่ายตรงข้ามต้องเริ่มการเจรจาให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าถึงเพื่อรักษาเศรษฐกิจและระบบสุขภาพไม่ให้ล่ม

 

ปัจจุบันนายพลอาวุโสมิน อ่องไหล่ หัวหน้ารัฐบาลทหารหลบเลี่ยงข้อแนะนำจากการเจรจาทั้งจากยูเอ็นและอาเซียน

 

ภายในไม่กี่วันหลังกลับจากการประชุมผู้นำอาเซียนเมื่อ 24 เม.ย. นายมิน อ่องไหล่ ไม่แยแสมติอาเซียน ตั้งเงื่อนไขว่าเมื่อกองทัพทำให้ประเทศมีเสถียรภาพสงบเรียบร้อยดีแล้วเสียก่อนจึงค่อยพิจารณามติอาเซียน รวมถึงการยอมให้ผู้แทนพิเศษอาเซียนเข้าประเทศ

 

ขณะเดียวกันผู้เคลื่อนไหวต่อต้านจัดตั้งหน่วยเคลื่อนไหวใต้ดินอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

 

ไม่กี่วันนับจากที่ถูกยึดอำนาจ สมาชิกรัฐสภาตั้งรัฐบาลเงา มีแนวทางสำหรับรัฐธรรมนูญชั่วคราวและเมื่อสัปดาห์ที่แล้วกองกำลังป้องกันของประชาชนในฐานะที่เป็นขั้นเริ่มต้นของกองทัพสหภาพ หลายเมือง เขตและแม้กระทั่งในหมู่บ้านได้ตั้งกลุ่มป้องกันในระดับท้องถิ่นขึ้น ซึ่งในทางทฤษฎีจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังป้องกันของประชาชน

 

 

นอกจากการเป็นผู้สนับสนุนด้านกำลังใจ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นจุดประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ที่รับเอารูปแบบของรัฐบาลกลาง ที่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์แสวงหามาหลายสิบปีเพื่อให้ได้อำนาจในการปกครองตนเองในพื้นที่พรมแดนที่ชาติพันธุ์มีอำนาจเหนือ

รูปแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐนิยม ที่ศูนย์กลางแบ่งปันอำนาจกับภูมิภาคต่างๆ เป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เพราะมีเป้าหมายดึงชนกลุ่มน้อยเข้ามามีส่วนร่วม

 

ดังนั้นในทางทฤษฎี จึงเป็นการเพิ่มองค์ประกอบทางการทหาร ให้กับการเคลื่อนไหวซึ่งเดิมไม่ได้มีอาวุธร้ายแรงอะไรเกินไปกว่าระเบิดขวด ระเบิดประกอบเอง ให้กลายเป็นมีลูกปืนใหญ่เพิ่มเข้ามาในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้

 

 

ส่วนในทางปฏิบัติ อย่างน้อย ขณะนี้หน่วยรบแบบกองโจรของคะฉิ่นและกะเหรี่ยง ทางตะวันออกจะสู้อย่างที่เคยสู้มา เพื่อคุ้มครองอาณาเขตของตนเอง อีกทั้งยังฝึกฝนการต่อสู้ให้กับนักเคลื่อนไหวที่หนีไปยังพื้นที่ชาติพันธุ์ได้ เพียงแต่คงจะเทียบเทียมกับกองกำลังของรัฐบาลทหารที่ยังคงเหนือกว่าไม่ได้ เพียงแต่ถ้าสู้ในถิ่นของชาติพันธุ์เอง จะถือว่าได้เปรียบเพียงพอ

 

 

 

มีสิ่งเดียวที่คุกคามทหารได้

นายเดวิด สก็อต แมทีสัน นักวิเคราะห์อิสระที่ทำงานด้านเมียนมา 20 กว่าปี ให้ความเห็นว่า มีเพียงสิ่งเดียวที่คุกคามทหารได้อย่างแท้จริง คือเมื่อเสียงและชุมชนที่ไม่เหมือนกันเลยทั่วประเทศเริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านทหารกันจริงๆ ไม่ใช่ในฐานะเสาหินที่สามัคคีกัน แต่ทั้งหมดทำเพื่อต่อต้านผลประโยชน์ของทหาร

“หนทางที่ดีที่สุดที่เราหวังให้มันขับเคลื่อนไปข้างหน้า คือประชาชนตระหนักว่า ความพยายามทั้งหมดต้องเป็นไปเพื่อต้านรัฐบาลทหาร ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับต่อสู้ตรงเนินเขา หรือการประท้วงโดยสันติ หรือการต่อสู้ในรูปแบบอื่นๆ ที่โต้กลับฝ่ายทหารในเมืองต่างๆ นั่นล่ะที่พอจะสู้ได้” แมทีสันกล่าว

สำหรับทหารพม่า นักวิเคราะห์รายนี้มองว่า ไม่มีสัญญาณใดๆ เลยที่ทารพม่าจะยอมนั่งโต๊ะเจรจา หรือยอมจำนนกับเรื่องไหนทั้งนั้น เพราะคิดว่านั่นเป็นภัยคุกคามภายนอกที่จะกระทบต่อความอยู่รอดของตนเอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง