เตือนภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์! เปิด 5 คดีประชาชนถูกหลอก สูญเงินเกือบ 8 ล้าน

นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 5 - 11 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ฃ
ตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส
คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 4,025,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Tiktok พูดคุยสนทนากันจนสนิทใจและได้เพิ่มเพื่อนทาง Line จากนั้นมิจฉาชีพชักชวนเทรดหุ้นน้ำมันดิบ โดยอ้างว่าได้รับผลตอบแทนสูง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป
ช่วงแรกสามารถถอนเงินได้ ภายหลังลงทุนสูงขึ้นเพื่อหวังผลกำไรที่มากขึ้น แต่ไม่สามารถถอนเงินได้ มิจฉาชีพอ้างว่าทำรายการผิดพลาดต้องโอนเงินเรื่อย ๆ เพื่อเป็นค่าแก้ไขระบบ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 1,427,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นทนายความจากธนาคารกรุงไทยสำนักงานใหญ่ แจ้งว่าผู้เสียหายมียอดหนี้ค้างชำระ และโอนสายสนทนาให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรเมืองเชียงราย
จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าผู้เสียหายเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน และขอตรวจสอบเส้นทางการเงินในบัญชี หากไม่ให้ความร่วมมือจะมีความผิดตามกฎหมาย ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงให้ความร่วมมือและโอนเงินไป ภายหลังผู้เสียหายปรึกษาเพื่อน จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 968,800 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Tiktok ชักชวนทำงานหารายได้พิเศษโพรโมตโรงแรม โดยผู้เสียหายต้องโอนเงินเพื่อทำการโพรโมต ช่วงแรกได้รับผลตอบแทนสามารถถอนเงินได้ ภายหลังโอนเงินเพิ่มขึ้นแต่ไม่สามารถถอนเงินได้ มิจฉาชีพอ้างว่ามีค่าใช้จ่ายในขั้นตอนการถอนเงิน ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 859,687 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Line ชักชวนให้ผู้เสียหายเป็นตัวแทนรับจองคิวผู้ใช้บริการเสริมความงาม โดยผู้เสียหายต้องโอนเงินเพื่อสำรองเงินก่อน จึงจะสามารถถอนเงินทุนและกำไรได้ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ในครั้งแรกได้รับกำไรกลับมาจริง ภายหลังให้โอนเงินในจำนวนมากขึ้น แต่ไม่สามารถถอนเงินได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 5 คดีหลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าความเสียหาย 334,400 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Tiktok ชักชวนลงทุนเกี่ยวกับเหรียญดิจิทัล ผู้เสียหายสนใจจึงเพิ่มเพื่อนทาง Line สอบถามรายละเอียด มิจฉาชีพแจ้งว่าให้โอนเงินเพื่อลงทุน โดยจะแจ้งให้ผู้เสียหายรู้ว่าควรโอนเงินลงทุนเวลาใด ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินตามที่มิจฉาชีพแจ้ง จากนั้นไม่สามารถอนเงินทุนและกำไรได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 7,614,887 บาท
ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 9 พฤษภาคม 2568 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้
1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,705,225 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,067 สาย
2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 646,090 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,257 บัญชี
3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 205,957 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 31.88 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 151,645 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.47 (3) หลอกลวงลงทุน 93,033 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.40 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 79,999 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 12.38 (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 46,440 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.19 (และคดีอื่นๆ 69,016 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 10.68)
“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย โดยยังคงใช้วิธีการชักชวนให้ลงทุนเทรดหุ้น หรือลงทุนในลักษณะต่างๆ รวมทั้งลงทุนโพรโมตสินค้า บริการ และการข่มขู่ โดยอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ข่มขู่ผู้เสียหายเอี่ยวคดีฟอกเงิน ซึ่งพบว่ามีมูลค่าความเสียหายรวมเกือบ 8 ล้านบาท ทั้งนี้ขอย้ำว่า หน่วยงานของรัฐ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ จะไม่มีการโทรติดต่อโดยตรง หรือติดต่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย และจะไม่มีการให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบบัญชีแต่อย่างใด ดังนั้นหากมีการติดต่อเข้ามา ให้ประเมินว่าเป็นการหลอกลวงของมิจฉาชีพ ด้านการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบและติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดยกระทรวงดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิด 5 คดีประชาชนถูก “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ลวงโอนเงิน สูญกว่า 40 ล้านบาท
- เตือนภัย! กลโกง "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" หลอกคุยโทรศัพท์ 7 วัน 7 คืน สูญเงินกว่า 8 ล้าน
- สาวร่ำไห้! ถูกมิจฉาชีพหลอกทำภารกิจ สุดท้ายโอนเงินเกือบ 3 แสนให้จนหมดตัว