ก.ควบคุมโรค แจงปม ลดวันกักตัว เสี่ยงสูงโควิดเหลือ5วัน คาดเริ่มใช้พ.ค.นี้
กรมควบคุมโรค แจง ลดวันกักตัว เสี่ยงสูงโควิด เหตุระยะฟักตัวโอมิครอนสั้น จึงปรับให้อยู่บ้าน 5 วัน สังเกตอาการอีก 5 วัน คาดเริ่มใช้ช่วง พ.ค.
วันที่ 12 เม.ย.2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติเมื่อวันที่ 11 เม.ย. ให้ลดวันกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงโควิดเหลือ 5 วัน สังเกตอาการ 5 วัน ว่า การลดวันกักตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลก หลักการคือเราดูจากระยะฟักตัวของโรคหลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ โดยย้ำว่า คนกักตัวไม่ใช่คนป่วย ดังนั้นเราจะคิด 2 อย่าง คือ
1.ความเสี่ยง ซึ่งการใกล้ชิดนั้น ไม่ใช่เพียงพบหน้าผู้ติดเชื้อแล้วแปลว่า มีความเสี่ยงต้องกักตัว และ 2.เดิมเราใช้มาตรการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 7 วันที่บ้านไม่พบผู้อื่นเลย และอีก 3 วันให้สังเกตอาการตนเองโดยออกจากพื้นที่ได้ แต่ต้องคงมาตรการป้องกันตัวสูงสุด ทั้งนี้ จะมีการเสนอตามขั้นตอนไปที่ ศปก.ศบค. แล้วไปยัง ศบค.ชุดใหญ่ต่อไป อ่
"ขณะนี้เรามีข้อมูลว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ระยะฟักตัวค่อนข้างสั้น ทั่วโลกก็เริ่มลดวันกักตัวในการเดินทางลง รวมถึงในผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คณะกรรมการฯ จึงเห็นชอบว่าให้ลดวันกักตัวเหลือ 5 วัน และสังเกตอาการอีก 5 วัน เป็นระยะเวลารวม 10 วันเท่าเดิม เพียงแต่ 5 วันแรกที่เสี่ยงสูงสุดให้อยู่ที่บ้านและอีก 5 วันให้สังเกตอาการโดยออกไปไหน มาไหนได้ แต่ต้องระวังตัวเองสูงสุด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา" นพ.โอภาส กล่าว
เมื่อถามว่า จะสามารถเริ่มใช้มาตรการได้ช่วงใด นพ.โอภาส กล่าวว่า คาดว่าอย่างช้าที่สุดคือ พ.ค. ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาเห็นชอบจาก ศบค. รวมถึงการประเมินสถานการณ์หลังสงกรานต์ เนื่องจากคาดว่าน่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในการควบคุมดูแลได้ หากทุกอย่างเป็นไปตามคาดหมาย ทุกอย่างก็จะเป็นไปตามขั้นตอน
ถามต่อว่า การปรับวันกักตัวเพื่อให้สอดคล้องกับผู้เดินทางจากต่างประเทศบางส่วนที่เข้าระบบกักตัวก็ลดเหลือ 5 วันด้วยหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ประเทศต่าง ๆ เรื่องวันกักตัวก็ลดลงค่อนข้างเยอะ ก็ดู 2 อย่าง คือ สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศ และจำนวนผู้ติดเชื้อที่จะเข้ามาประเทศเรา ขณะนี้ประเทศเราติดเชื้อระดับค่อนข้างสูงและทรงตัว เทียบกับผู้ติดเชื้อที่เข้ามาในประเทศไทยวันนี้เฉลี่ย 50-60 คนก็ไม่เยอะมากนักจนมีผลกระทบต่อระบบการดูแลรักษาควบคุมโรค เป็นปัจจัยที่แต่ละประเทศพิจารณากัน
"ผู้ติดเชื้อที่เดินทางจากต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นแต่ไม่มาก และไม่มีผลกระทบเรื่องการดูแลรักษาในประเทศและสถานการณ์ควบคุมโรคมากนัก เนื่องจากจำนวนไม่ค่อย และฉีดวัควีนแล้ว ส่วนใหญ่เวลาป่วยก็จะมีการทำประกันสุขภาพ และการรักษาส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาการ ก็ไม่ค่อยมีผลกระทบ ถ้าดูแนวโน้มทั่วโลกก็มีการเปิดให้การเดินทางกลับมาเป็นปกติ ส่วนไทยก็ทำเป็นขั้นตอนลดทีละสเต็ป หากไม่มีเหตุผิดปกติหรือมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นก้ลดไปทีละสเต็ป เป็นไปตามแผนที่วางไว้" นพ.โอภาส กล่าว