รีเซต

สดร.เผยชิ้นส่วนจรวด Falcon 9 ของ SpaceX จะพุ่งชนพื้นผิวดวงจันทร์ 4 มี.ค.นี้

สดร.เผยชิ้นส่วนจรวด Falcon 9 ของ SpaceX จะพุ่งชนพื้นผิวดวงจันทร์ 4 มี.ค.นี้
TNN ช่อง16
7 กุมภาพันธ์ 2565 ( 14:24 )
68
สดร.เผยชิ้นส่วนจรวด Falcon 9 ของ SpaceX จะพุ่งชนพื้นผิวดวงจันทร์ 4 มี.ค.นี้

วันนี้ (7 ก.พ.65) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ "จรวด Falcon 9 จะชนเข้ากับดวงจันทร์" โดยมีรายละเอียด ระบุว่า 

 

นักดาราศาสตร์ทำนายว่า ในวันที่ 4 มีนาคม 2565 ชิ้นส่วนจรวด Falcon 9 ของ SpaceX จะพุ่งชนเข้ากับพื้นผิวของดวงจันทร์ โดยไม่มีอันตรายใดๆ ต่อโลก

 

จรวด Falcon 9 ของ SpaceX ขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2015 เพื่อลำเลียงภารกิจ Deep Space Climate Observatory (DSCOVR) ไปยังจุด L1 หรือจุดลากรานจ์ที่ 1 ที่อยู่ห่างออกไป 1.5 ล้านกิโลเมตรระหว่างดวงอาทิตย์และโลก 

 

จุด L1 นี้เป็นจุดที่อยู่ตรงกันข้ามกับจุด L2 ที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศ JWST โคจรอยู่ และสามารถทำให้ยานสำรวจ DSCOVR สามารถหันมาสังเกตการณ์และบันทึกภาพโลกในด้านกลางวันได้ตลอดเวลา เพื่อปฏิบัติภารกิจในการสังเกตการณ์สภาพอากาศ ติดตาม climate change และยังสามารถเฝ้าระวังเตือนการพ่นมวลโคโรนา (Coronal Mass Ejections; CME) จากดวงอาทิตย์ ที่จะสามารถเตือนภัยจากลมสุริยะล่วงหน้าได้อีกด้วย

 

เนื่องจากตำแหน่ง L1 นี้อยู่เลยออกไปจากวงโคจรของดวงจันทร์ นั่นหมายความว่าจรวดขนส่ง Falcon 9 ในส่วนของ second stage ที่ลำเลียง DSCOVR ไปยังเป้าหมายนั้น จะต้องมีวงโคจรที่เลยออกไปจากวงโคจรด้วยเช่นกัน การควบคุมขยะอวกาศที่อยู่ห่างไกลออกไปขนาดนี้ให้เสียดสีเข้ากับชั้นบรรยากาศ และเผาไหม้ไปในที่ห่างไกลจากชุมชนนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก จึงมักจะปล่อยให้ลอยเคว้งอยู่ในอวกาศต่อไปตามวงโคจร

ปัจจุบันเรามีขยะอวกาศกว่าหลายล้านชิ้นที่ถูกส่งออกไปนอกโลกแต่ไม่มีพลังงานเพียงพอที่จะควบคุมให้เกิดการเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ แม้ว่าการติดตามขยะอวกาศจะเป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ แต่การติดตามขยะอวกาศที่อยู่ในวงโคจรที่อยู่ห่างไกลโลกออกไปนั้นยังเป็นเรื่องที่ยากอยู่มาก 

 

ปัจจุบันเรามีวัตถุขนาดใหญ่ในวงโคจรสูงที่เราขาดการติดตามไปโดยสิ้นเชิงกว่า 50 วัตถุ อาจเป็นไปได้ว่าก่อนหน้านี้ได้เคยมีเหตุการณ์ใกล้เคียงกัน ที่ชิ้นส่วนจรวดขนาดใหญ่ที่มนุษย์สร้างนั้นเคยชนเข้ากับดวงจันทร์มาก่อนแล้ว โดยที่เราไม่ทราบ แต่เหตุการณ์ที่จะถึงนี้จะนับเป็นครั้งแรกที่เราได้ติดตามอย่างใกล้ชิด

 

ชิ้นส่วนจรวด Falcon 9 ที่ยาวกว่า 15 เมตรและหนักกว่า 4 ตันนี้ ปัจจุบันกลายเป็นเพียงถังเชื้อเพลิงเปล่า พร้อมกับท่อจรวดที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ภายหลังจากที่เสร็จสิ้นภารกิจนั้นได้ถูกปล่อยให้ลอยไปตามวงโคจรรอบโลก

 

อย่างไรก็ตาม แรงโน้มถ่วงทั้งจากดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และโลก ทำให้วงโคจรของจรวดนี้ไม่เสถียรและค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป จนล่าสุด คาดการณ์กันว่าจรวดนี้จะพุ่งชนเข้ากับพื้นผิวของดวงจันทร์ ด้วยความเร็วกว่า 8,000 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 4 มีนาคม ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตาม การชนกันจะเกิดขึ้นในส่วนด้านไกลของดวงจันทร์ จึงจะไม่สามารถสังเกตเห็นการพุ่งชนนี้ได้จากโลก แต่ดาวเทียมที่สำรวจรอบดวงจันทร์ เช่น จันทรายาน-2 ของประเทศอินเดียอาจจะสามารถสังเกตเห็นการพุ่งชนได้ ส่วนดาวเทียม Lunar Reconaissance Orbiter (LRO) ของนาซานั้นจะไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะสามารถสังเกตเห็นการพุ่งชนได้ ณ เวลานั้น แต่อาจจะสามารถเปรียบเทียบพื้นผิวของดวงจันทร์ ก่อน และหลังการชน เพื่อยืนยันหลุมอุกกาบาตที่เกิดขึ้นจากการพุ่งชนนี้ได้

แม้ว่าการที่จรวดพุ่งชนเข้ากับดวงจันทร์นั้นจะฟังดูเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่ในความเป็นจริงแล้วเราเคยส่งวัตถุพุ่งชนเข้ากับพื้นผิวของดวงจันทร์อยู่เป็นประจำ เช่นส่วนของ Ascent Stage ในโครงการอพอลโลช่วงหลังๆ (ต่างจาก Ascent Stage ของ Apollo 11 ที่คาดว่ายังอาจจะโคจรรอบดวงจันทร์อยู่) 

รวมไปถึงอุกกาบาตที่พุ่งชนเข้ากับดวงจันทร์เป็นประจำ และมวลของจรวดที่พุ่งชนเข้ากับดวงจันทร์นี้นั้นนับเป็นเศษเสี้ยวจำนวนน้อยมากของมวลดวงจันทร์ และไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญใดๆ ได้กับดวงจันทร์ จึงไม่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด

ที่สำคัญไปกว่านั้น การพุ่งชนเข้ากับดวงจันทร์นับว่าเป็นทางออกที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดแล้ว เมื่อต้องเทียบกับการปล่อยให้ขยะอวกาศขนาดใหญ่ขนาดนี้โคจรไปรอบโลกเรื่อยๆ โดยที่ไม่รู้ว่าจะถูกแรงเหวี่ยงทำให้ตกลงสู่ชั้นบรรยากาศโลกเมื่อไหร่ และในบริเวณใด

เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของ SpaceX แต่อย่างใด และเป็นเพียงมาตรฐานปรกติที่เกิดขึ้นในการเดินทางอวกาศ

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้จะมีการส่งยานสำรวจอวกาศออกไปยังดวงจันทร์ และวงโคจรในจุดลากรานจ์ที่ไกลออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ กรณีศึกษานี้อาจจะช่วยบอกเราได้ถึงความเป็นไปได้ และความจำเป็นในอนาคตที่อาจจะต้องมีการติดตามขยะอวกาศในวงโคจรที่ไกลออกไปมากขึ้นกว่านี้

เรียบเรียง: ดร. มติพล ตั้งมติธรรม - นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร.

อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม:

[1] https://www.projectpluto.com/temp/dscovr.htm

[2] https://www.bbc.com/news/science-environment-60148543

[3] https://edition.cnn.com/.../moon-space-rocket.../index.html

[4] https://www.facebook.com/matiponblog/photos/1647436698799863

[5] https://www.facebook.com/matiponblog/photos/1201452086731662

 

ข้อมูลจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ภาพจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง