รีเซต

Clubhouse คืออะไร ทำไมถูกแบนในจีน

Clubhouse คืออะไร ทำไมถูกแบนในจีน
ข่าวสด
16 กุมภาพันธ์ 2564 ( 10:28 )
139
Clubhouse คืออะไร ทำไมถูกแบนในจีน

"ค่ายปรับทัศนคติ" ที่เขตซินเจียงของจีนมีจริงหรือไม่ ไต้หวันควรได้รับเอกราชจากจีนหรือเปล่า หัวข้อสนทนาเหล่านี้กำลังเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงผ่านแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียชื่อ คลับเฮาส์ (Clubhouse) ที่คนใช้เสียงคุยกันอย่างเดียว และกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในขณะนี้

จึงไม่น่าแปลกใจที่ล่าสุดคนในจีนไม่สามารถใช้แอปพลิเคชันนี้ได้แล้ว

 

Reuters

แอปพลิเคชันนี้คืออะไร

คลับเฮาส์เป็นแอปพลิเคชันที่ยังใช้ได้เฉพาะในหมู่คนใช้โทรศัทพ์มือถือไอโฟนเท่านั้น และต้องได้รับ "คำเชิญ" จากคนที่ใช้แอปฯ อยู่แล้วเท่านั้นถึงจะเข้าไปใช้เพื่อพูดคุยกันทางเสียงเท่านั้น ลักษณะคล้าย ๆ กึ่งวิทยุสื่อสาร กึ่งห้องประชุมออนไลน์ เหมือนกับคุณกำลังฟังพอดคาสต์แบบสด ๆ แต่ก็สามารถเข้าไปพูดคุยได้ด้วย

ข้อมูลจากบริษัทวิเคราะด้านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือเซ็นเซอร์ทาวเวอร์ (Sensor Tower) นับถึงวันที่ 31 ม.ค. พบว่ามีการดาวน์โหลดแอปฯ นี้ไปแล้ว 2.3 ล้านครั้งด้วยกัน หลังจากเปิดตัวเมื่อ พ.ค. ที่แล้ว โดยขณะนั้นมูลค่าของเครือข่ายโซเชียลมีเดียนี้อยู่ที่เกือบ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่มีรายงานว่าเมื่อไม่นานมานี้ ขยับขึ้นไปแตะพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว

 

NURPHOTO

 

ในเชิงเทคนิคแล้ว แอปฯ นี้มีมาตรการรักษาความเป็นส่วนตัวในระดับหนึ่ง เนื่องจากไม่มีทางเลือกให้คนอัดเสียงบทสนทนาเอาไว้ได้ แต่ก็มีกรณีที่มีคนแอบอัดเสียงสนทนาของคนดัง แล้วเอาไปอัปโหลดลงยูทิวบ์ในภายหลัง

ขณะนี้ผู้มีชื่อเสียงในสหรัฐฯ เริ่มหันมาใช้แอปฯ นี้มากขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ โอปราห์ วินฟรีย์ เดรก และจาเรด เลโต จากที่เคยใช้กันในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนักลงทุน ในแถบซิลิคอนแวลลีย์ของสหรัฐฯ เท่านั้น จนกระทั่งยอดดาวน์โหลดพุ่งเป็นเท่าตัวหลังอีลอน มัสก์ และมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เริ่มใช้แพลตฟอร์มนี้ด้วย

 

ช่องโหว่

ที่ผ่านมาคนในจีนสามารถใช้แอปฯ นี้ได้จนถึงเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว โดยในระหว่างช่วงเวลาสั้น ๆ นั้น คนได้ถือโอกาสใช้ "ช่องโหว่" นี้ พูดคุยกันถึง "เรื่องต้องห้าม" ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาวอุยกูร์ในซินเจียง การปราบปรามผู้ประท้วงฮ่องกง หรือความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีน

"นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันเข้าอินเทอร์เน็ตจริง ๆ" หญิงจากจีนแผ่นดินใหญ่คนหนึ่งกล่าวในห้องสนทนาหนึ่ง

 

บีบีซีมีโอกาสได้เข้าไปฟังบทสนทนาเหล่านี้ด้วย อย่างในห้องสนทนาที่ชื่อ "Everyone asks Everyone" เมื่อสุดสัปดาห์ก่อน คนจากทั้งจีนและไต้หวันร่วมพูดคุยกันด้วยภาษาจีนกลาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประโยชน์ของประชาธิปไตยในประเทศที่คนพูดภาษาจีน ความเป็นไปได้ที่จีนจะมาผนวกไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอย่างเป็นทางการ ไปจนถึงเรื่องส่วนตัว

 

ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันและฮ่องกง นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะจีนใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนในการคัดกรองและตรวจสอบข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของพลเมือง ซึ่งนักวิจารณ์เรียกเครื่องมือเหล่านี้แบบเสียดสีว่า "กำแพงไฟร์วอลล์เมืองจีน" (great firewall)

 

ขณะนี้ หากคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบนแพลตฟอร์มที่ยังใช้ได้ในประเทศอย่างเว็บไซต์ เว่ยป๋อ (Weibo) และแอปพลิเคชันวีแชต (WeChat) ก็อาจถูกทางการจัดการได้ แต่ในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่คนในจีนสามารถใช้คลับเฮาส์ได้ ไม่มีการเซ็นเซอร์เนื้อหาการพูดคุยแต่อย่างใด ทำให้คนก็รู้สึกปลอดภัยในระดับหนึ่งเนื่องจากไม่มีทางเลือกให้คนอัดเสียงบทสนทนาเอาไว้ จนถึงจุดหนึ่งมีคนเข้าร่วมในห้องสนทนาดังกล่าวพร้อมกันถึง 5 พันคน

 

 

"ว่ากันตรง ๆ มันก็มีการโฆษณาชวนเชื่อกันทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ ทำไมเราไม่พยายามมาเข้าใจกันและกันให้มากขึ้น เห็นใจกัน และให้การสนับสนุนกัน" หญิงจากไต้หวันคนหนึ่งกล่าว

 

YOUTUBE
ยอดดาวน์โหลดพุ่งเป็นเท่าตัวหลังอีลอน มัสก์ และมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เริ่มใช้แพลตฟอร์มนี้ด้วย

 

เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว มีห้องสนทนาชื่อ "มีค่ายกักกันที่ซินเจียงหรือเปล่า" (Is there a concentration camp in Xinjiang?) ที่คนเข้าไปถกเถียงกันนานถึง 12 ชั่วโมง ฟรานซิส (นามสมมติ) ซึ่งเป็นผู้สร้างกลุ่มบอกกับบีบีซีว่า กลุ่มนี้ไม่ได้มีเพื่อตั้งคำถามว่าค่ายกักกันมีจริงหรือไม่ แต่เพื่อให้คนมีแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันต่อนโยบายของจีนในเขตปกครองซินเจียง

"ผู้ฟังที่เป็นชาวจีนเชื้อสายฮั่นหลายคน ซึ่งเคยไม่เชื่อว่ามีค่ายเหล่านี้จริง รู้สึกร่วมไปกับคำบอกเล่าเรื่องราวชีวิตจากปากชาวอุยกูร์และเข้าใจในที่สุดว่ามีเรื่องโหดร้ายแค่ไหนเกิดขึ้น นี่อาจเป็นความสำเร็จสูงสุดของกลุ่มสนทนานี้" ฟรานซิส ซึ่งเป็นเป็นนักทำหนังชาวจีนเชื้อสายฮั่นที่อาศัยอยู่ในนครลอสแอนเจลิส กล่าว

 

 

ข้อกังวล

ขณะที่แอปฯ ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็เริ่มมีความกังวลมากขึ้นเช่นกันโดยคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีมาตรการควบคุมผู้เข้าร่วมบทสนทนา

 

เมื่อเดือน ธ.ค. เครก เจนกินส์ เขียนบทความลงในเว็บไซต์วัลเชอร์ (Vulture) ว่า หากผู้ที่สร้างกลุ่มและคอยควบคุมบทสนทนาไม่ระวัง การพูดคุยก็อาจกลายเป็นการโจมตีกันและกันได้

 

เขาบอกอีกว่า ต้องรอดูกันต่อไปว่าคนแค่สนใจแอปพลิเคชัน ที่ในระดับหนึ่งก็ไม่ต่างจากการเลียนแบบประสบการณ์การแชตออนไลน์กับคนแปลกหน้าในยุคทศวรรษ 90 เพียงเพราะตอนนี้เราต้องอยู่กับบ้านและรู้สึกเหงาหรือเปล่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง