โควิด-19: การต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลกระทบต่อเสรีภาพผู้คนในเอเชียอย่างไร
ซาฟูรา ซาร์การ์ ตั้งท้องได้กว่า 3 เดือนตอนที่เธอถูกจับกุมในกรุงนิวเดลี ของอินเดีย ฐานเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ที่กีดกันชาวมุสลิม และนำไปสู่การประท้วงทั่วประเทศ
ตอนนั้นคือวันที่ 10 เม.ย. ปี 2020 ซึ่งเชื้อโรคโควิด-19 เพิ่งจะเริ่มระบาดเข้าไปในอินเดีย
แม้คำแนะนำของรัฐบาลจะระบุว่า สตรีมีครรภ์เป็นกลุ่มเสี่ยงพิเศษที่จะติดเชื้อ แต่ซาฟูรากลับถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำติฮาร์ที่มีนักโทษอยู่รวมกันอย่างแออัด
เธอเล่าให้ กีตา ปันเดย์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีฟังว่า "พวกเขาบอกนักโทษคนอื่น ๆ ไม่ให้คุยกับฉัน โดยบอกพวกเขาว่าฉันเป็นผู้ก่อการร้ายที่สังหารชาวฮินดู ตอนนั้นไม่มีนักโทษคนไหนรู้เรื่องการประท้วง พวกเขาไม่รู้ว่าฉันถูกจับเข้าคุกเพราะร่วมการชุมนุมประท้วง"
- จีน "ปิดปาก" ประชาชน และเขียนประวัติศาสตร์วิกฤตไวรัสขึ้นใหม่อย่างไร
- 3 นักคิดกับมุมมองโลกหลังยุคโควิด-19
- ประท้วงอย่างไรให้ปลอดภัยในช่วงการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
อาชญากรรมที่ซาฟูราก่อคือการลงถนนประท้วงกฎหมายที่นักวิจารณ์หลายคนชี้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะจะให้สัญชาติอินเดียเฉพาะผู้อพยพจากบังกลาเทศ ปากีสถาน และอัฟกานิสถานที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ข่าวการประท้วงที่เกิดขึ้นได้รับความสนใจอย่างมากจากประชาคมโลก
แต่ในกรณีของซาฟูรา กลับไม่มีการชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเธอ เพราะขณะนั้นทางการอินเดียได้บังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยให้ประชาชนราว 1.3 พันล้านคนเก็บตัวอยู่ในบ้าน เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
การจับกุมซาฟูราคือหนึ่งในหลายกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว และกรณีเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในอินเดีย เพราะกลุ่มนักเคลื่อนไหวระบุว่า รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกใช้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเครื่องบังหน้าการบังคับใช้กฎหมาย จับกุมผู้เห็นต่าง หรือผลักดันโครงการอื้อฉาวต่าง ๆ ที่หากเกิดขึ้นในห้วงเวลาปกติจะต้องเผชิญการประท้วงต่อต้านทั้งจากประชาชนในประเทศและจากนานาชาติ
แต่แทนที่จะเผชิญกระแสต่อต้าน รัฐบาลหลายประเทศกลับมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ เพราะประชาชนส่วนใหญ่หันมาฟังรัฐบาลเพื่อหาแนวทางการปฏิบัติตนในช่วงวิกฤการณ์เช่นนี้
นายโจเซฟ เบเนดิกต์ จาก ซีวิคัส (Civicus) องค์กรแนวร่วมภาคประชาสังคม บอกกับบีบีซีว่า "เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 คือศัตรูและประชาชนก็พร้อมจะต่อสู้กับมัน นี่จึงเอื้อให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ฉวยโอกาสผ่านกฎหมายที่กดขี่โดยอ้าง "การต่อสู้กับโรคระบาด"
"นี่จึงทำให้สิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองต้องถอยหลังให้" เขากล่าว
ในรายงานล่าสุดของ ซีวิคัส ที่มีชื่อว่า "การโจมตีพลังของประชาชน" (Attack on people power) ระบุว่า มีรัฐบาลหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก "พยายามปิดปากกลุ่มผู้เห็นต่างด้วยการเซ็นเซอร์รายงานว่าด้วยการละเมิดของรัฐ ซึ่งรวมถึง กรณีที่เกี่ยวกับการจัดการโรคระบาด"
รายงานชี้ว่า รัฐบาลเหล่านี้ใช้มาตรการค้นหาติดตามผู้ติดโรคโควิด-19 เป็นเครื่องมือเพิ่มการสอดแนม ติดตาม และปิดปากกลุ่มผู้วิจารณ์รัฐบาล โดยซีวิคัส พบการออกกฎหมายที่เข้มงวดในรัฐบาลอย่างน้อย 26 ประเทศ และในอีก 16 ประเทศพบกรณีการดำเนินคดีต่อกลุ่มผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
บทลงโทษที่ไม่สมเหตุสมผล
ในอินเดีย นอกจากกรณีของซาฟูรา ก็ยังมีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวหลายคนถูกจับกุม ซึ่งรวมถึงนักบวชคณะเยซูอิต วัย 83 ปีคนหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน เขาถูกจับกุมในข้อหาการปลุกระดมมวลชน ข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา และข้อหาตามกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะได้รับอนุญาตให้ประกันตัว
กรณีดังกล่าวทำให้องค์กรต่าง ๆ รวมถึงองค์การสหประชาชาติแสดงความกังวลกับการจับกุมนักบวชผู้นี้ ขณะที่คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) เรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียปล่อยตัวนักโทษการเมือง
แม้จะมีเสียงเรียกร้องและแรงกดดันจากประชาคมโลก แต่อินเดียยังเดินหน้าจับกุมฝ่ายเห็นต่างต่อไป โดยรัฐบาลยืนกรานว่า ผู้ที่ถูกจับกุมได้กระทำการที่ขัดต่อผลประโยชน์ของชาติ พร้อมปฏิเสธว่าการตั้งข้อหาต่อฝ่ายเห็นต่างเป็นการล่าแม่มด
ในฟิลิปปินส์ การจับกุม เตเรสิตา นาอูล ซึ่งถูกมองเป็น "ผู้นำคอมมิวนิสต์" ในข้อหาลักพาตัว กักขังหน่วงเหนี่ยว และวางเพลิง ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากสังคม โดยเธอเป็นหนึ่งในคนฟิลิปปินส์ราว 400 รายที่ถูกตั้งข้อหาเช่นนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเคลื่อนไหวและผู้สื่อข่าว ขณะที่ฝ่ายวิจารณ์รัฐบาลคนอื่น ๆ ถูกทำร้ายหรือไม่ก็ถูกลอบสังหาร
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลฟิลิปปินส์สั่งปิดทำการ ABS-CBN เครือข่ายสื่อรายใหญ่ของประเทศในเดือน พ.ค. ปี 2020 ก็ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับโรคระบาดที่เกิดขึ้นได้
ส่วนในบังกลาเทศก็มีการปิดหลายเว็บไซต์ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วยข้อหาเผยแพร่ "ข้อมูลเท็จ" เรื่องโรคโควิด-19
รายงานของ ซีวิคัส ยังยกให้ กัมพูชา ไทย ศรีลังกา และเวียดนาม เป็นประเทศที่น่ากังวล เพราะปรากฏการใช้บทลงโทษที่รุนแรงไม่สมเหตุสมผลต่อบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์และมีความคิดเห็นต่างทางการเมือง ในจำนวนนี้หลายคนถูกตั้งข้อหาเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโรคระบาด
ขณะที่เมียนมาถูกวิจารณ์เรื่องการใช้ข้อหา "ก่อการร้าย" เป็นข้ออ้างในการควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
ก่อนหน้านี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Human Rights) ออกแถลงการณ์เรียกร้องหลายครั้งให้รัฐบาลไทยยุติการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อกล่าวหาอาญาร้ายแรงอื่น ๆ ต่อผู้ประท้วงอย่างสันติ ซึ่งรวมถึงเยาวชน พร้อมเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ
ในฮ่องกง การผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเมื่อเดือน มิ.ย. 2020 ก็ทำให้แทบจะไม่มีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยรายวันเกิดขึ้นเลย
ICJ ชี้ว่าการใช้เทคโนโลยีสอดส่องประชาชนแบบในเกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง แม้จะมีประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แต่ก็น่ากังวลว่า รัฐบาลหลายประเทศอาจจะยังใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ต่อไปหลังจากปัญหาโรคระบาดยุติลงแล้ว
ขณะที่ซีวิคัส ชี้ว่า ผลกระทบจากการออกกฎหมายและการจับกุมต่าง ๆ โดยอ้างการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปี 2020 จะคงอยู่ต่อไปอีกนานแม้ว่าวิกฤตโรคระบาดนี้จะสิ้นสุดไปแล้วก็ตาม