สร้างแผนที่จักรวาลด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ “Euclid”
ในเดือนกรกฎาคม 2023 ที่จะถึงนี้ องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) จะส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิด (Euclid) ขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดฟัลคอน 9 (Falcon 9) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) จากแหลมคะแนเวอรัล ในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสแกนหาสสารมืดและสร้างแผนที่ 3 มิติของจักรวาล
การศึกษาสสารมืด (Dark Matter) และพลังงานมืด (Dark Energy) เพื่อสร้างแผนที่จักรวาล
สำหรับสสารมืด (Dark Matter) และพลังงานมืด (Darl Energy) เป็นสสารและพลังงานที่ไม่สามารถมองเห็นและอธิบายได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่ามันเป็นสาเหตุที่ทำให้จักรวาลของเราขยายตัวอย่างรวดเร็ว
โดยตำแหน่งที่กล้องโทรทรรศน์จะถูกส่งไปโคจรในอวกาศก็คือ จุดลากรานจ์ 2 (Lagrange 2) ซึ่งเป็นบริเวณที่แรงดึงดูดระหว่างโลกและดวงอาทิตย์สมดุลกัน ทำให้มันโคจรอยู่ในตำแหน่งนั้นไปได้เรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังเป็นจุดโคจรที่อยู่หลังโลก ซึ่งจะช่วยบังแสงอาทิตย์ไม่ให้ส่องมาทำลายกล้องโทรทรรศน์อวกาศโดยตรงอีกด้วย โดยเป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่นาซา (NASA) ส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) ไปโคจรและปฏิบัติภารกิจ
เครื่องมือเด่นของกล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิด (Euclid)
โดยมีอุปกรณ์ 2 ตัว ที่โดดเด่น ซึ่งจะได้รับการติดตั้งไปกับกล้องโทรทรรศน์ยูคลิด คือ
1. เครื่องสเปกโตรมิเตอร์ (Spectrophotometer) หรือเครื่องวัดการดูดกลืนแสงสำหรับตรวจหาพลังงานมืดและสสารมืดซึ่งไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้
2. เครื่องโฟโตมิเตอร์ (Photometer) สำหรับวิเคราะห์และระบุชนิดพร้อมด้วยปริมาณของสสารที่ตรวจจับได้
นอกจากนี้ยังมีกล้องออปติคัล (Optical Camera) ไปด้วยอีก 1 ตัว สำหรับถ่ายภาพวัตถุที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
โดยข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการสำรวจของกล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิดจะถูกนำไปประมวลผลเพื่อสร้างแผนที่ 3 มิติ ของจักรวาล ซึ่งจะทำให้เราทราบตำแหน่งของวัตถุต่าง ๆ ได้ และอาจถึงขั้นคาดเดารูปทรงของจักรวาลได้ด้วยเช่นกัน
ข้อมูลและภาพจาก ESA