รีเซต

เช็คให้ชัวร์ก่อนติดตั้ง !! สเปกคอมขั้นต่ำของ Windows 11

เช็คให้ชัวร์ก่อนติดตั้ง !! สเปกคอมขั้นต่ำของ Windows 11
TNN ช่อง16
1 กรกฎาคม 2564 ( 06:40 )
138
เช็คให้ชัวร์ก่อนติดตั้ง !! สเปกคอมขั้นต่ำของ Windows 11

นับว่าเรียกเสียงฮือฮาไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับการเปิดตัวระบบปฏิบัติการ Windows 11 โดยมีการปรับปรุงทั้งดีไซน์แบบใหม่ดูสะอาดตามากขึ้น รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานที่รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม หลายคนจึงให้ความสนใจเป็นอย่างมาก



คุณสมบัติขั้นต่ำที่ใช้ในการติดตั้ง Windows 11


ล่าสุดทาง Microsoft ได้เปิดให้อัปเดตในโหมดนักพัฒนา Insider Preview ใครที่อยากลองใช้ Windows 11 ลองเช็คคุณสมบัติขั้นต่ำที่คอมพิวเตอร์ต้องมีก่อนทำการติดตั้ง ดังนี้


- ซีพียูแบบ Dual-Core และมีความเร็ว 1 GHz ขึ้นไป

- แรม 4GB ขึ้นไป

- พื้นที่ว่าง 64GB ขึ้นไป

- การ์ดจอรองรับ DirectX 12 พร้อมกับไดรเวอร์แบบ WDDM 2.0

- จอแสดงผลขนาด 9 นิ้ว ความละเอียดระดับ HD 720p ขึ้นไป

- เฟิร์มแวร์ระบบแบบ UEFI และรองรับ Secure Boot

- รองรับ Trusted Platform Module (TPM) 2.0


หากดูจากคุณสมบัติขั้นต่ำแล้ว คิดว่าคอมพิวเตอร์ของหลาย ๆ คนน่าจะติดตั้ง Windows 11 กันได้ไม่ยาก ทว่า ปัญหาที่พบบ่อยและกลายเป็นประเด็นในขณะนี้ คือการรองรับ Trusted Platform Module หรือ TPM 2.0 ซึ่งคอมพิวเตอร์ที่มีอายุราว 4-5 ปีก่อนยังเป็น TPM 1.2 ส่งผลให้ไม่สามารถติดตั้ง Windows 11 ได้ แล้ว TPM มีความสำคัญอย่างไร เหตุใด Microsoft จึงบังคับใช้ มาดูในหัวข้อถัดไปกันเลย



Trusted Platform Module (TPM) คืออะไร


Trusted Platform Module คือโมดูลด้านความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่เก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นลายนิ้วมือ, ใบหน้า, รหัสผ่าน, รูปแบบการเข้ารหัส, ข้อมูลระบบ รวมถึง Secure Boot ที่เป็นระบบป้องกันเฟิร์มแวร์ในขณะเปิดเครื่อง ก็ถูกจัดเก็บไว้ใน TPM เช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าระบบความปลอดภัยขั้นสุดยอดของคอมพิวเตอร์จะถูกเก็บไว้ใน TPM นั่นเอง


TPM ในคอมพิวเตอร์ปัจจุบันแบ่งออกเป็นรูปแบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ และแบ่งย่อยได้อีกอย่างละ 2 แบบ ดังนี้


1. Discrete TPM - เป็นชิปความปลอดภัยที่ฝังมาในเมนบอร์ดของคอมพิวเตอร์ รูปแบบนี้ถือว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะสามารถทำงานแยกกันกับอุปกรณ์อื่นบนเครื่องได้อย่างอิสระ การเจาะระบบโดยแฮกเกอร์จะทำได้ยากมาก แต่มีข้อจำกัดตรงที่หากเปลี่ยนรุ่นหรือเวอร์ชันของ TPM จะต้องซื้อชิปแบบอัปเกรดมาติดตั้งเอง

2. Integrated TPM - คุณสมบัติคล้ายกับแบบแรก ยังอยู่ในรูปแบบของชิป แต่จะถูกรวมไว้ในชิปเซตของเมนบอร์ดอีกที ซึ่งการทำงานของมันจะถือว่าไม่ได้แยกออกไปจากระบบเสียทีเดียว แต่ก็ยังมีความปลอดภัยใกล้เคียงกับแบบ Discrete TPM

3. Firmware TPM (fTPM) - นิยมใช้กันมากในคอมพิวเตอร์ปัจจุบัน โดยจะเป็นซอฟต์แวร์ที่ทำงานร่วมกับซีพียู และมีโค้ดป้องกันข้อมูลที่เรียกว่า Trusted Execution Environment (TEE) จึงไม่จำเป็นต้องมีชิปแยก ข้อดีของ fTPM คือสามารถอัปเกรดเวอร์ชันได้ผ่านการอัปเดตเฟิร์มแวร์ของเมนบอร์ด

4. Software TPM - เป็นการจำลองระบบ TPM ขึ้นมา ซึ่งจะนิยมใช้ในซอฟต์แวร์จำลองสภาพแวดล้อม (Virtual machine) เพื่อติดตั้งระบบปฏิบัติการอีกที เช่น Virtualbox หรือ VMWare 



เหตุใด Microsoft จึงบังคับให้ใช้ TPM


จริง ๆ เมนบอร์ดของคอมพิวเตอร์ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการรองรับ TPM 1.2 อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้มีการเปิดใช้งานมาจากโรงงานผู้ผลิต เช่นเดียวกันกับ TPM 2.0 ที่ตามมาในช่วงหลังก็ไม่ได้มีการเปิดใช้งานในเมนบอร์ดตั้งแต่แรก อาจเป็นเพราะไม่ได้มีความจำเป็นในการใช้งานสักเท่าไร เว้นเสียแต่แล็ปท็อปที่เปิดตัวช่วง 1-2 ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ผู้ผลิตจะเปิดใช้งาน TPM ไว้ให้เรียบร้อย


อย่างไรก็ตาม Microsoft เผยว่ามีรูปแบบของรหัสผ่านมากมายเกิดขึ้น รวมถึงวิธีการเข้ารหัสที่ยืนยันอัตลักษณ์บุคคล เช่น การสแกนใบหน้าและลายนิ้วมือก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ในขณะอาชญากรรมไซเบอร์ไม่ได้ลดลงเลย มีข้อมูลว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาภาคธุรกิจถูกโจมตีผ่านเฟิร์มแวร์คอมพิวเตอร์มากถึง 83% และส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเปิดการใช้งาน TPM ไว้ ดังนั้น เพื่อลดอุบัติการณ์เหล่านี้ Microsoft จึงตั้งคุณสมบัติขั้นต่ำของ Windows 11 ให้ผู้ใช้เปิดใช้งาน TPM เป็นค่าเริ่มต้น


นอกจากนี้ TPM ยังมีบทบาทในเรื่องการป้องกันด้านลิขสิทธิ์ หากพบว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน ระบบจะสามารถจัดการได้ในทันที (เช่น ทำให้ซอฟต์แวร์ใช้งานไม่ได้) รวมถึงยังช่วยป้องกันการโกงเกม ซึ่งเป็นผลดีต่อการแข่งขันเกมออนไลน์ E-Sport ในปัจจุบันด้วย



จะทำอย่างไรหากคอมพิวเตอร์ยังใช้ TPM 1.2 รุ่นเก่า


จุดเด่นของ TPM 2.0 เหนือ TPM 1.2 คือการรองรับอัลกริธึมของเงินคริปโตได้หลากหลายรูปแบบมากกว่า ซึ่งจะช่วยปกป้องข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ดังนั้น ใน Windows 11 จึงต้องใช้ TPM 2.0 หากยังเป็น TPM 1.2 จะปรากฏหน้าต่างเตือนว่าไม่สามารถติดตั้งได้ (ดาวน์โหลดโปรแกรมเช็คความพร้อมของคอมพิวเตอร์คุณได้จาก ลิ้งก์นี้)


ซึ่งกรณีนี้ผู้ใช้อาจจะต้องรอให้ทางผู้ผลิตเมนบอร์ด ออกอัปเดตเฟิร์มแวร์ของเมนบอร์ด เพื่อปรับ fTPM จาก 1.2 ให้กลายเป็น 2.0 หากโชคดีที่ผู้ผลิตใจดีออกอัปเดตให้ก็จะสามารถใช้งานได้ แต่ถ้าหากไม่มีการออกอัปเดตให้ กรณีนี้คงต้องรอติดตามก่อนว่า Microsoft จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร


ถึงกระนั้น Windows 11 จะปล่อยออกมาอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีนี้ ส่วนใครที่ลองใช้ในช่วงนี้มันยังเป็นเวอร์ชันสำหรับนักพัฒนาแอปพลิเคชันอยู่ คาดว่าในอนาคตทาง Microsoft อาจมีแนวทางอื่น ๆ ให้ แต่ท้ายที่สุดแล้วหากไม่สามารถปรับคุณสมบัติได้จริง คุณก็ยังสามารถใช้งาน Windows 10 ต่อไปได้ เพราะจะยังได้รับการดูแลจาก Microsoft ไปจนถึงปี 2568 เลยทีเดียว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Techspot

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง