รีเซต

เหตุเกิดที่ประเทศที่ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แห่งสุดท้ายแห่งทวีปแอฟริกา

เหตุเกิดที่ประเทศที่ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แห่งสุดท้ายแห่งทวีปแอฟริกา
มติชน
7 กรกฎาคม 2564 ( 13:57 )
122
เหตุเกิดที่ประเทศที่ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แห่งสุดท้ายแห่งทวีปแอฟริกา

สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) คือ ระบอบการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครองและมีสิทธิขาดในการบริหารประเทศ ในระบอบการปกครองนี้ กษัตริย์ก็คือกฎหมาย กล่าวคือ ที่มาของกฎหมายทั้งปวงอยู่ที่กษัตริย์ คำสั่ง ความต้องการต่างๆ ล้วนมีผลเป็นกฎหมายโดยมีการสืบทอดอำนาจทางสายเลือดเท่านั้น

 

 

 

สำหรับการเป็นประเทศในโลกปัจจุบันนี้ต้องมีคุณสมบัติครบ 4 ประการคือ 1) มีประชากร 2) มีดินแดนที่มีขอบเขตที่แน่นอน 3) มีรัฐบาล และ 4) มีอำนาจอธิปไตย ซึ่งถ้านับตามนี้แล้วทั้งโลกของเราปัจจุบันนี้มีประเทศอยู่ 194 ประเทศ แต่มีประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่เพียง 6 ประเทศเท่านั้น

 

 

 

ในโลกนี้มีทวีปอยู่ 7 ทวีป แต่มีเพียง 3 ทวีปเท่านั้นที่มีประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีที่ทวีปแอฟริกา และทวีปยุโรป ทวีปละ 1 ประเทศ คือประเทศ

 


เอสวาตินี (สวาซีแลนด์เดิม) และประเทศวาติกัน ส่วนทวีปเอเชียมี 4 ประเทศ คือ ประเทศบรูไน ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประเทศกาตาร์ และประเทศเกาหลีเหนือ (ทางการเกาหลีเหนือได้สร้างตำนานว่า นายคิม อิลซุง ประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีเหนือคือ พระผู้เป็นเจ้าลงมาเกิดในโลกมนุษย์ ดังนั้นการสืบทอดอำนาจในการปกครองประเทศต้องอยู่ในตระกูลของคิม อิลซุงตลอดกาล จึงจัดว่าเกาหลีเหนือเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วย)

 

 

 

ต่อไปนี้เป็นเรื่องของประเทศเอสวาตินี ซึ่งเป็นหัวเรื่องของบทความนี้ ประเทศเอสวาตินีประเทศเดียว
ในแอฟริกาที่ยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เริ่มมีการเคลื่อนไหวของประชาชนตั้งแต่ พ.ศ.2550 มีผู้ประท้วงหลายพันคนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 14 ปีแล้ว

 

 

 

แต่กษัตริย์อึมสวาติที่ 3 กลับประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สวาซีแลนด์” เป็น “เอสวาตินี” เป็นการปฏิรูปประเทศแทนใน พ.ศ.2561 โดยให้ชื่อใหม่ว่า เอสวาตินี มีความหมายว่าแผ่นดินแห่งชาวสวาซี คำอธิบายเหตุผลของการเปลี่ยนชื่อประเทศว่า การเปลี่ยนชื่อประเทศครั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เวลาเราไปต่างประเทศ คนมักบอกว่า พวกเรามาจากสวิตเซอร์แลนด์

 

 

 

กษัตริย์อึมสวาติที่ 3 แห่งประเทศเอสวาตินี มีพระอัครมเหสี และพระชายา 15 คน ในขณะที่บิดาของพระองค์คือ กษัตริย์โซบูซาที่ 2 แห่งสวาซีแลนด์ มีพระอัครมเหสี และพระชายา ถึง 125 คน ในระหว่าง

 

 


ครองราชย์ประเทศเอสวาตินีมีเนื้อที่ประมาณ 17,364 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าจังหวัดตากของไทยเรา
เล็กน้อย และเป็นดินแดนที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีประชากรประมาณ 1.3 ล้านคน อายุขัยเฉลี่ยของประชากรชายต่ำสุดอยู่ที่ 54 ปี และผู้หญิง 60 ปี นอกจากนี้ประเทศเอสวาตินียังเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี/เอดส์มากที่สุดในโลกอีกด้วย

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับประเทศเอสวาตินีนี้เป็นเพียงประเทศเดียวที่เหลือในทวีปแอฟริกาที่ยังคงมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน หลังจากหลายประเทศได้ตัดความสัมพันธ์กับไต้หวันไป (ภายใต้การกดดันจากจีนที่ถือไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนเอง) โดยไต้หวันยังเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่ทั้งทางเศรษฐกิจ
และด้านอื่นๆ แก่ประเทศเอสวาตินีที่สำคัญคือกษัตริย์อึมสวาติที่ 3ได้ล้มป่วยด้วยไวรัสโควิด-19 เมื่อเดือนมกราคมนี้แต่ได้รับการช่วยเหลือจากประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน แห่งไต้หวันโดยการส่งยาต้านไวรัสไปให้ทันที และได้หายเป็นปกติแล้ว (อดีตนายกรัฐมนตรีของเอสวาตินีเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2563)

กษัตริย์อึมสวาติที่ 3 ใช้อำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และตุลาการ โดยกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยในเอสวาตินีเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ ทว่าความไม่พอใจ
ของประชาชนเริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมาจากการที่กลุ่มผู้ประท้วงโจมตีรัฐบาลของกษัตริย์
อึมสวาติที่ 3 ว่าใช้อำนาจในทางมิชอบหาผลประโยชน์ กลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องได้โจมตีทั้งคณะรัฐบาล และกษัตริย์ ผู้ใช้ชีวิตบนความหรูหราฟุ่มเฟือยท่ามกลางประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม และมีชีวิตอยู่อย่างยากจนแบบหามื้อกินมื้อ

การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยให้มีการปฏิรูปรัฐบาลที่มีมาตรการกดขี่มาเนิ่นนานแล้ว แต่การประท้วงดังกล่าวมักเกิดขึ้นได้ยากในเอสวาตินี ซึ่งเป็นประเทศที่แม้จะมีรัฐสภาและผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่สมาชิกสภาและนายกรัฐมนตรีที่ส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้งโดยกษัตริย์

การประท้วงครั้งใหญ่ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมานี้ อย่างสงบจนกระทั่งถึงวันที่ 25 มิถุนายนก็เริ่มมีการจลาจลที่กรุงอัมบาบาเน เมืองหลวง และมาซินี เมืองที่ใหญ่สุดของประเทศ โดยกลุ่มผู้ประท้วงได้แสดงความไม่พอใจรัฐบาลด้วยการปิดถนน และจุดไฟเผาร้านค้าต่างๆ ของเมือง โดย นายซาคิเล อึนซูมาโล ตัวแทนจากสภาเยาวชนสวาซีแลนด์ ได้กล่าวว่า ผู้ชุมนุมได้เรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนและเน้นว่า

“เราทุกคนต้องการประชาธิปไตย ต้องการเลือกผู้นำด้วยตัวเอง เราต้องการสาธารณรัฐภายใต้ระบบประธานาธิบดี”

นายลัคกี้ ลูเคเล โฆษกเครือข่ายแนวร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยของสวาซีแลนด์ กล่าวกับสื่อต่างชาติว่า ขณะนี้รัฐบาลส่งกองกำลังทหารลงท้องถนน มีรายงานการใช้ความรุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศสืบเนื่องจากความพยายามปราบปรามประชาชน มีรายงานภาพถ่ายและวิดีโอบนโซเชียลมีเดียที่แสดงให้เห็นว่าทหารกำลังทำร้ายผู้ประท้วงตามท้องถนน มีรายงานการยิงกระสุนปืน และแก๊สน้ำตาในการสลายผู้ชุมนุม กลุ่มนักเคลื่อนไหวกล่าวว่า ทหาร และตำรวจได้สังหารผู้ประท้วงมากกว่า 40 คนแล้ว

รัฐบาลเอสวาตินีได้ประกาศเคอร์ฟิวทุกคืนตั้งแต่เวลา 18.00 น. ถึง 05.00 น.และใช้กำลังทหารเข้ารักษาความสงบ เพื่อสกัดการประท้วง ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่ากษัตริย์อึมสวาติที่ 3 เสด็จไปประทับยังประเทศแอฟริกาใต้เพื่อความปลอดภัย แต่นายเทมเบ มาสุกุ รักษาการนายกรัฐมนตรีเอสวาตินียืนยันว่า พระองค์ไม่ได้เสด็จลี้ภัยต่างแดนตามที่ร่ำลือยังคงประทับในประเทศ โดยนายเทมเบ มาสุกุ ยังระบุในแถลงการณ์ว่า รัฐบาลขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ และไม่ก่อการประท้วงอย่างจลาจลจุดไฟเผาร้านค้าอีกโดยเด็ดขาด

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง