รีเซต

แคปซูลบรรจุ 'ฟ้าทะลายโจร' ส่อขาดแคลน พึ่งพานำเข้า 100% หลังคนแห่ซื้อตุน

แคปซูลบรรจุ 'ฟ้าทะลายโจร' ส่อขาดแคลน พึ่งพานำเข้า 100% หลังคนแห่ซื้อตุน
มติชน
31 กรกฎาคม 2564 ( 13:23 )
52
แคปซูลบรรจุ 'ฟ้าทะลายโจร' ส่อขาดแคลน พึ่งพานำเข้า 100% หลังคนแห่ซื้อตุน

 

นายพิษณุ อุชุวัฒน์ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยภาคตะวันออก และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ปานะโอสถ จำกัด ผู้ผลิตยาสมุนไพร อาหารเสริมและสารสกัด เปิดเผยว่า จากความต้องการยาฟ้าทะลายโจรและผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันสูงต่อเนื่อง และความวิตกต่อความเสี่ยงที่อาจติดเชื้อโควิดต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ยอดผลิตและสั่งซื้อยาฟ้าทะลายโจรสูงขึ้นหลายเท่าตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้อุตสาหกรรมยาและสมุนไพรโดยเฉพาะฟ้าทะลายโจรเริ่มเจอปัญหาหลายประการ ที่สำคัญคือ

 

 

1. เกิดภาวะตรึงตัวของจำนวนแคปซูลที่มีคุณภาพปลอดภัยตามมาตรฐาน แม้ขณะนี้ยังไม่ถึงกับขาดแคลนแต่ยอดสั่งซื้อจากตัวแทนนำเข้าบางช่วงจะได้ลดลง ซึ่งแคปซูลที่ทั้งอุตสาหกรรมยา สารสกัด และอาหารเสริม ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ประมาณปีละ 1 หมื่นล้านแคปซูล แต่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปีก่อน ทำให้การผลิตใน 3 ประเทศลดลง โดยจีนต้องปรับไปผลิตสินค้าอื่นด้านการแพทย์มากขึ้น จำนวนโรงงผลิตแคปซูลจึงลดลง

 

 

ส่วนอินเดียและอินโดนีเซียเจอวิกฤตโควิดกระทบต่อโรงงานผลิตต้องปิดตัวหรือลดกำลังการผลิตจากการขาดแคลนแรงาน อีกทั้งที่ผ่านมาระบบขนส่งทั่วโลกเจอปัญหาขาดแคลนเรือขนส่งข้ามประเทศและค่าระวางสูงจนกระทบต่อต้นทุนการส่งออกและนำเข้า ซึ่งไทยพึ่งพาการนำเข้าแคปซูลมาประมาณ 15 ปีแล้ว เพราะราคานำเข้าถูกกว่าในประเทศ ทำให่โรงงานในประเทศทยอยปิดตัว ก็จะเหมือนการผลิตหน้ากากอนามัยที่ก่อนโควิดจะนำเข้าเพราะผลิตในประเทศสู้ราคาไม่ได้ ดังนั้น เมื่อมีความต้องการสูงเร็วก็ปรับตัวไม่ทัน อีกทั้ง รัฐกลับมาประกาศสนับสนุนการปลูกและผลิตกันได้ทั่วไป

 

 

“หากความต้องการยาฟ้าทะลายโจรเพื่อป้อนโรงพยาบาล เพื่อการรักษาโควิดยังสูง และประชาชนตื่นกลัวต่อการแพร่ระบาดโควิด จึงต้องมีการกว้านซื้อในจำนวนที่สูงกว่าปกติ 2-3 เท่า อีกทั้งการผลิตฟ้าทะลายโจรแบบแคปซูลตอนนี้ทำกันได้นอกโรงงานผลิต ความต้องการแย่งซื้อก็จะมาก แคปซูลอาจขาดแคลนระยะสั้นๆก่อนในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ จากวันนี้นำเข้าจาก 3 ประเทศนั้นหายไปเกือบ 50% โดยปัจจุบันไทยมีโรงงานผลิตสมุนไพรขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐาน ต่างๆรับรอง 40-50 โรงงาน และโรงงานย่อยหลายร้อย” นายพิษณุ กล่าว

 

 

นายพิษณุ กล่าวต่อว่า ปัญหาอีกประการคือ ผลผลิตฟ้าทะลายโจรหาซื้อได้ยากขึ้น และราคาแพงขึ้นจากอดีต 10 เท่าตัว ซึ่งฟ้าทะลายโจรสด 10 กิโลกรัม ตากแห้งได้แค่ 1 กิโลกรัม พื้นที่ปลูกไม่ใช่เป็นแปลงใหญ่ เฉลี่ย 1-2 ไร่ สูงสุดไม่เกิน 5 ไร่ เพราะที่ผ่านมาปริมาณความต้องการไม่ได้มาก จึงผลิตเพื่อป้อนโรงพยาบาลเฉพาะกลางอย่างอภัยภูเบศร และโรงงานผลิตยาหรือสมุนไพรเท่านั้น การปลูกก็แค่ 2 รอบต่อปี ครั้งละ 4 เดือนช่วงฝนดี ปลูกตอนนี้กว่าจะเก็บเกี่ยวก็เดือนพฤศจิกายน หากตัดขายเร็วก็จะได้ยาที่มีสรรพคุณไม่ดีพอ ที่ต้องมีสารเอนโดรกราฟโฟไลด์ตามมาตรฐานในแต่ละแคปซูล กลุ่มผู้ผลิตสมุนไพรก็วิตกกันในเรื่องนี้ การบรรจุยาหรือใช้แคปซูลที่ไม่ได้คุณภาพดีพออาจมีผลต่อร่างกายผู้ทาน

 

 

ทั้งนี้ ในแง่ของกำลังการผลิตของโรงงานนั้น ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือไม่วัตถุดิบเพียงพอและแข่งขันซื้อในราคาแพงได้หรือไม่ เพราะแพงมากการผลิตขายปลีกก็ต้องปรับราคาด้วย และอีกปัญหาคือการส่งเสริมปลูกและผลิตได้ทั่วไป จะทำให้เกิดผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำมากในอีก 1 ปีข้างหน้า ตอนนี้สมุนไพรชนิดอื่นก็เจอปัญหาด้วย เช่น กระชายขาว ก็เริ่มขาดตลาด เดิมราคา 20 บาทต่อกิโลกรัม วันนี้ 200 บาท กระชายสด 8 กิโลกรัมได้กระชายแห้งเพียง 1 กิโลกรัม

 

 

นายพิษณุ กล่าวถึงกรณีกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน เตรียมนำราคาขายปลีกของแต่ละผู้ผลิตและจำหน่ายฟ้าทะลายโจรขึ้นเว็บไซต์ของกรมการค้าภายใน เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้และติดสินใจก่อนเลือกซื้อว่าได้ราคาที่เหมาะสมหรือไม่ นั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วยว่าวิธีการนี้จะได้ผล ต่อการควบคุมดูแลราคาฟ้าทะลายโจรให้ตลาดได้โดยตรง เนื่องจากติดปัญหาเรื่องต้นทุนรับซื้อวัตถุดิบและปริมาณผลผลิตไม่ได้สม่ำเสมอ ผู้ขายฟ้าทะลายโจรก็จะขายให้ที่เสนอราคาสูงสุด เมื่อต้องการก็ต้องแย่งซื้อ ราคาจึงผันผวนได้สูง

 

 

และจากที่สำรวจของโรงงานผู้ผลิตในเครือ พบว่า ราคาขายส่งยังไม่ได้ปรับสูงจากต้นทุนจริง แต่ราคาตลาดไปบวกเท่าตัวเอง เช่น ราคาหน้าโรงงาน 70-80 บาท แต่ในท้องตลาดขายกัน 150-160 บาท และความต้องการที่สูง ผู้บริโภคก็อาจต้องทำใจที่ต้องซื้อในราคาแพงอยู่ดี ก็ต้องดูว่าทางการจะดูแลราคาระหว่างทางพ่อค้าคนกลางถึงผู้บริโภคได้อย่างไร

 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ทุกผู้ผลิตก็ยินดีให้ความพร้อมมือกับกระทรวงพาณิชย์ สำหรับในแง่ผู้ผลิตสมุนไพรและสานสกัดปีนี้ถือว่ารายได้ดีไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด เพราะความต้องการสมุนไพรที่หลากหลายมากขึ้น ในส่วนของบริษัทจึงคงรายได้ปีนี้ประมาณ 200 ล้านบาทหรือรักษาอัตรายอดขายโต 10% ต่อปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง