ไวรัสโคโรนา : รัฐบาลประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน” ทั้งประเทศ 26 มี.ค.-30 เม.ย. สกัดโควิด-19
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวชี้แจงประชาชนผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) ถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. -30 เม.ย.
"ผมจะเป็นผู้นำของภารกิจนี้ และรายงานตรงต่อคนไทยทุกคน" นายกฯ ระบุ
เขาระบุด้วยว่า หลังจากนี้ ศูนย์ประสานการปฏิบัติภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยกระดับเป็น หน่วยงานพิเศษ ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อบูรณาการการสั่งการทุกส่วนราชการอย่างมีเอกภาพรวดเร็ว เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตต้องรวมศูนย์สั่งการเพื่อความชัดเจน ลดปัญหาต่างคนต่างทำ
ศูนย์ดังกล่าวจะมีนายกฯ เป็นประธาน พร้อมกำหนดตัวหัวหน้าผู้รับผิดชอบด้านต่าง ๆ มีดังนี้
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข - หัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข
ปลัดกระทรวงมหาดไทย - หัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการ กทม.
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ - หัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการควบคุมสินค้าและเวชภัณฑ์
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ - หัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการต่างประเทศและการคุ้มครองช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด - หัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ
(รายละเอียดเพิ่มเติม บีบีซีไทยจะรายงานให้ทราบต่อไป)
วานนี้ (24 มี.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19
- รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สกัดโควิด-19 วันพฤหัสบดีนี้
- สำรวจที่มา "ยาแรง" ก่อน ประยุทธ์-วิษณุ แถลงชี้แจงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สกัดโควิด-19
- สธ. แถลงผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มอีก 107 คน มีแพทย์ติดเชื้อเพิ่ม
- นายจ้าง เอสเอ็มอีและแรงงานนอกระบบต้องการรัฐเยียวยาอย่างไร หลังรัฐบาลสั่งปิดกิจการ
แม้ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศว่าการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเข้าสู่ระยะ 3 อันหมายถึงเกิดการกระจายของเชื้อเป็นวงกว้างภายในประเทศ แต่โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยอมรับว่า มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐไทยใช้ "เกินกว่าระยะ 2 ไปนานแล้ว"
ข้อมูล ณ วันที่ 25 มี.ค. พบว่า มีผู้ป่วยสะสม 934 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 4 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 347 ราย ที่เหลืออยู่ในต่างจังหวัด และกระจายแทบทุกภาคแล้ว