รีเซต

เปิดโรงงาน "เตามหาเศรษฐี" ที่ราชบุรี สุดยอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น

เปิดโรงงาน "เตามหาเศรษฐี"  ที่ราชบุรี สุดยอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น
TNN ช่อง16
22 มิถุนายน 2565 ( 09:42 )
191
เปิดโรงงาน "เตามหาเศรษฐี"  ที่ราชบุรี สุดยอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น


.

(22 มิ.ย.65) จากกรณีที่เพจเฟซบุ๊กของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหันมาใช้เตามหาเศรษฐีหรือเตาซูเปอร์อั้งโล่ แทนเตาอั้งโล่ธรรมดา ด้วยคุณสมบัติที่ให้ความร้อนสูงกว่า ใช้ถ่านน้อยกว่า และมีการเผาไหม้ที่สมบูรณ์กว่า ซึ่งจะทำให้ช่วยประหยัดพลังงานและเงินที่ใช้ซื้อถ่านหุงต้ม ซึ่งเริ่มมีราคาแพงขึ้นมาตามเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ อย่างน้ำมันและก๊าซหุงต้ม โดยโพสต์ดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์จำนวนมาก





ทีมข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังโรงงานที่ผลิตเตาอั้งโล่รายใหญ่ในจังหวัดราชบุรี เป็นโรงงานที่ผลิตเตาถ่าน หรือ เตาอั้งโล่มายาวนานของเมืองราชบุรี ชื่อโรงงาน “เตาอั้งโล่ราชบุรี – ตั้งเตา” หรือ ที่รู้จักกัน “เจดีย์ทอง” ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ต.เจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี พบกับกับ น.ส.พิชญดา พุ่มเลิศ อายุ 30 ปี เจ้าของโรงงาน ซึ่งได้พาไปชมการผลิตเตาประหยัดพลังงาน หรือ เตามหาเศรษฐี ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างช้านาน และได้ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ที่ปัจจุบันตนเองก็มาช่วยงานคุณพ่อ คุณแม่ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงงาน และเป็นของขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งนอกจากโอ่งมังกรราชบุรี ยังมีเตาอั้งโล่ราชบุรี เนื่องจากที่จังหวัดราชบุรีมีดินเหนียวคุณภาพดีที่ใช้สำหรับใช้ปั้นโอ่งและปั้นเตาอั้งโล่ หรือ เตาถ่านที่ใช้กันมายาวนาน

.

คุณพิชญดา เจ้าของโรงงาน เล่าว่า ที่โรงงานมีการผลิตเตาถ่าน หลายประเภท อาทิ  เตาประหยัดพลังงาน มีทั้ง ทรงแหลม และ ทรงตรง, เตาอั้งโล่ หรือ เตาดำ, เตาปิ้งย่าง, เตาหมูกระทะ, เตาขนมครก มีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดใหญ่ โดยเปิดจำหน่ายทั้งปลีก-ส่ง และ ยังส่งไปขายทั่วประเทศ ราคาจำหน่ายออกจากโรงงานจะเริ่มต้นที่ 80 – 270 บาท



สำหรับประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจจากโลกออนไลน์ ที่เพจเฟซบุ๊กของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหันมาใช้เตามหาเศรษฐีหรือเตาซูเปอร์อั้งโล่ แทนเตาอั้งโล่ธรรมดานั้น ตนมองว่า ปกติที่โรงงานจะผลิตเตาประหยัดพลังงานอยู่แล้ว มีทั้งรูปแบบ เตารูปทรงตัววี และ ทรงตั้งตรง ซึ่งจะมีความแตกต่างกันตรงที่การเก็บความร้อน ในขณะเผาไหม้ของถ่าน และ การรับน้ำหนักของหม้อต้ม

.

เตาประหยัดพลังงานเป็นภูมิปัญญาในอดีตของคนไทยมาประยุกต์สร้างเตาถ่านให้พลังงานสูงและใช้เชื้อเพลิงน้อย การปั้นรูปตรงของเตาและวัสดุที่นำมาปั้นเตาที่มีความทนทานและสามารถเก็บความร้อนได้ดี การปั้นจะเน้นปากของเตาที่จะค่อนข้างกว้าง และรังผึ้งจะหน้ากว่าเตาทั่วไป และรูระบายอากาศเป็นรูปกรวย ช่วยไม่ให้ถ่านชิ้นเล็กหลุดร่วงลงบนขี้เถ้าและช่วยเรื่องการดูดอากาศ ทำให้ทำความร้อนได้สูงกว่า เวลาใส่ถ่านไปจะเผาได้ช้ากว่า ประหยัดถ่านกว่าเตาอั้งโล่ท้องตลาด 30-40% ให้ความร้อนสูงกว่าเตาทั่วไป อุณหภูมิกลางเตาประมาณ 1,000 - 1,200 องศาเซลเซียส มีลักษณะเพรียวและน้ำหนักเบา วางภาชนะหุงต้ม(หม้อ) ได้ 9 ขนาด ตั้งแต่เบอร์ 16-32 ขณะหุงต้มไม่มีควันและก๊าซพิษเกิดขึ้น และ อายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 2 ปี อีกทั้งยังมีความแข็งแรงกว่าเตาทั่วไป สำหรับราคาขายที่โรงงานจะอยู่ที่ 260-270 บาท ส่วนตามร้านค้าปลักทั่วๆไปที่รับไปขายก็จะค่อนช้างสูงอยู่ที่ 290-300 บาท


สำหรับกระแสที่ให้มีการหันมาใช้เตาประหยัดพลังงาน ตนมองว่า ถือว่าเป็นการดีเพราะเตาประหยัดพลังงาน ใช้ถ่านในปริมาณที่น้อยต่อครั้งในการประกอบอาหาร ไม่สิ้นเปลืองถ่าน และยังถูกกว่าการใช้แก๊สหุงต้ม แต่อาจจะเสียเวลาในขณะที่ติดเตาถ่าน แต่เมื่อเตาได้ความร้อนที่พร้อม จะสามารถประกอบอาหารได้หลากหลาย ทั้งผัดในกระทะ หรือ ประเภทต้มโดยใช้หม้อ ส่วนหลังจากนี้หากมีกระแสหันมาใช้เตาทางโรงงานก็ยืนยันว่าไม่ขึ้นราคา ยังคงผลิตและจำหน่ายในราคาเดิม แต่ทั้งนี้หากวัสดุไม่ปรับราคาสูงจนเกินไป ก็ไม่ขึ้นราคาแน่นอน เพราะไม่อยากซ้ำเติมประชาชนในยุคที่ข้าวของกำลังแพง




นายประเชิญ นันยา อายุ 49 ปี แผนกจัดส่งในโรงงาน กล่าวว่า เตาอั้งโล่ เตาถ่าน หรือ เตาประหยัดพลังงานยังคงได้รับความนิยมสูง โดยตามร้านอาหาร ร้านหมูกระทะ หรือ ตามบ้านเรือนแถวชนบท โดยเฉพาะยุคที่เชื้อเพลิงมีราคาสูงคนหันมาใช้เตากันมากขึ้น อย่างวันนี้ตนนำเตาขึ้นรถยนต์กระบะเพื่อนำไปส่งให้กับร้านค้า และ ลูกค้าที่สั่งในจังหวัดพิษณุโลก และ จังหวัดพิจิต มีทั้งเตาหุงต้มทั่วไป เตาถ่านขนาดใหญ่ และ เตาประหยัดพลังงาน แต่โดยปกติก็จะวิ่งส่งไปยังทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และ ภาคกลาง โดยเฉลี่ยเดือนหนึ่งจะส่งประมาณ 5-6 เที่ยว อนาคตตนมองว่าคนจะหันมาใช้เตาถ่านกันเพิ่มมากขึ้นโดยเพราะตามร้านค้าที่ต้องมีการปรุงอาหาร เพราะแบกรับค่าใช้จ่ายของแก๊สหุงต้มไม่ไหว ส่วนเตาเราซื้อครั้งเดียวสามารถอยู่ได้ยาวนานกว่า 1 – 2 ปี ส่วนเชื้อเพลิงได้ทั้งถ่านสำเร็จ หรือ กิ่งไม้ทั่วไปสามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงได้




ภาพ ผู้สื่อข่าว จ.ราชบุรี 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง