คลัง วุ่นหาเงินชดเชยข้าว หนี้จ่อทะลุเพดาน วัดใจ 'นายกฯ' ขยายเพิ่ม
ก.คลังวุ่นหาเงินชดเชยข้าว ระบุหนี้จ่อทะลุเพดาน วัดใจ ‘บิ๊กตู่’ ขยายเพิ่ม ‘รถบรรทุก’ ถก 9 พ.ย.กดดันรบ.อีก
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว งวดแรก 13,000 ล้านบาท จากจำนวนทั้งหมด 89,306 ล้านบาท ในส่วนวงเงินที่เหลือนั้น กระทรวงพาณิชย์จะต้องไปดูว่าจะจัดการแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ อย่างไร และใช้วงเงินแต่ละงวดเท่าไร ส่วนจะใช้งบประมาณจากส่วนใด เนื่องจากขณะนี้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 เกือบเต็มเพดานแล้วนั้น ก็จะต้องเข้าไปดูรายละเอียด
“ตอนนี้คลังให้งบประมาณไปรอบแรกก่อน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะต้องกลับไปทบทวน และนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาแผน ก่อนจะเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติวงเงินทั้งก้อนอีกครั้ง แต่จะใช้งบกลางได้หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถระบุได้” นายอาคมกล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า กระทรวงการคลังกำลังประสบปัญหาการจัดหางบประมาณมาใช้ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ฤดูกาลผลิต 2564/65 ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอมา 89,306 ล้านบาท เนื่องจากมีหนี้สะสมใกล้เกินเพดานวินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือประมาณ 9.3 แสนล้านบาท ดังนั้น แม้ ครม.จะอนุมัติงบก้อนแรกแล้ว 13,000 ล้านบาท แต่คลังมีภาระต้องเร่งหางบประมาณมาใช้ในการประกันรายได้อีก 76,000 ล้านบาทโดยเร็ว เนื่องจากปีนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ประกอบกับราคาข้าวตกต่ำค่อนข้างมาก โดยเฉพาะข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียว ทำให้ต้องชดเชยส่วนต่างเกินตันละ 4,000 บาท
รายงานข่าวระบุว่า ต้องจับตาดูว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายกฯ และรัฐฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน จะตัดสินใจขยายเพดานการก่อหนี้สะสมตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 ให้สูงกว่ากรอบ 30% ของงบประมาณประจำปีหรือไม่ เพื่อให้สามารถใช้แหล่งเงินทุนจาก ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการประกันราคาต่อไปได้ แต่อาจแลกด้วยผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้จัดทำขึ้นมาเอง หรือรัฐบาลอาจต้องหาแหล่งงบประมาณจากส่วนอื่นมาใช้ เช่น งบประมาณกลาง เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 89,000 ล้านบาท ตลอดจนการเกลี่ยงบประมาณจากส่วนอื่น ทั้งที่เพิ่งมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี)
กรณีกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกขนส่งสินค้า สมาชิกสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย นัดกันหยุดเดินรถสัดส่วน 20% ของรถบรรทุกทั้งหมด เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 25 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 1 ปี เพื่อลดภาระจากปัญหาราคาน้ำมันแพง ซึ่งผ่านมาเป็นเวลาครบ 7 วันแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ
นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ กล่าวว่า สหพันธ์จะประชุมถึงแนวทางการเรียกร้องในขั้นถัดไปในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ เพื่อสอบถามและสำรวจว่าผู้ว่าจ้างรถบรรทุกว่า จะได้รับความเดือดร้อนแค่ไหน หากให้ความเห็นว่ายังสามารถรับได้ กลุ่มสหพันธ์จะเดินหน้ายกระดับการเรียกร้องในทันที