รีเซต

การกระทำของกัมพูชาเข้าข่าย "อาชญากรรมสงคราม" หรือไม่ ? แบบไหนถึงเข้าข่าย

การกระทำของกัมพูชาเข้าข่าย "อาชญากรรมสงคราม" หรือไม่ ? แบบไหนถึงเข้าข่าย
TNN ช่อง16
25 กรกฎาคม 2568 ( 17:30 )
32

เว็บไซต์ met.police.uk ระบุว่า อาชญากรรมสงครามเป็นส่วนสำคัญของอาชญากรรมระหว่างประเทศ ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่สุดตามกฎหมายระหว่างประเทศ ตัวอย่างของอาชญากรรมเหล่านี้ ได้แก่ อาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และการทรมาน แล้วการกระทำแบบไหนเข้าค่ายอาชญากรรมสงครามบ้าง


- การกระทำที่โหดร้ายต่อบุคคลหรือทรัพย์สิน อันเป็นการละเมิดกฎหมายหรือกฎการทำสงคราม

- การฆาตกรรม การปฏิบัติอย่างโหดร้าย หรือการเนรเทศไปเป็นทาสแรงงาน หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใด ต่อพลเรือนในดินแดนที่ถูกยึดครอง

- การฆาตกรรมหรือการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อเชลยศึกหรือบุคคลในท้องทะเล

- การสังหารตัวประกัน

- การทรมานหรือการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรม รวมถึงการทดลองทางชีวภาพ

- การละเมิดอนุสัญญาเจนีวา

- การปล้นสะดมทรัพย์สินสาธารณะหรือส่วนบุคคล

- การทำลายเมือง หรือหมู่บ้านโดยมิชอบ

- การทำลายล้างที่ไม่สมเหตุสมผลเนื่องจากความจำเป็นทางทหาร

- การทำลายทรัพย์สินที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะ

อนุสัญญาเจนีวา คืออะไร


จากข้อมูลของ International Committee of the Red Cross ระบุว่า อนุสัญญาเจนีวาเป็นเหมือนคำมั่นสัญญาระหว่างประเทศ ที่มีสาระสำคัญเรื่องกฎเกณฑ์และการจำกัดขอบเขตความรุนแรงของสงคราม อนุสัญญาฉบับนี้ ปกป้องคุ้มครองผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบ เช่น พลเรือน, บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มผู้ทำงานเพื่อการช่วยเหลือต่าง ๆ รวมถึงผู้ที่ไม่สามารถร่วมการสู้รบได้อีกต่อไป เช่น ทหารผู้บาดเจ็บ เจ็บป่วย ทหารเรืออัปปาง และ เชลยสงคราม


โดยอนุสัญญาเจนีวาฉบับปี 1949 ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้ในปัจจุบันประกอบไปด้วยอนุสัญญา 4 ฉบับ คือ อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 1 ว่าด้วยการคุ้มครองทหารที่บาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยในการสงครามภาคพื้นดิน อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 2 คุ้มครองทหารที่ได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรืออยู่ในสภาวะเรืออัปปาง ในภาวะสงครามทางน้ำ อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 คุ้มครองเชลยสงคราม และอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 คุ้มครองพลเรือน โดยเฉพาะพลเรือนที่อยู่ในพื้นที่ของฝ่ายตรงข้าม

ก่อนหน้านี้ทางกองทัพภาคที่ 2 ของไทยก็ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า อาชญากรรมสงคราม (War Crimes) คือ การละเมิด กฎหมายและธรรมเนียมของสงครามที่เกิดขึ้นอย่างร้ายแรง


- การจงใจโจมตี พลเรือน หรือเป้าหมายที่ไม่ใช่ทางทหาร

- การโจมตีโรงพยาบาล โรงเรียน

- การใช้อาวุธที่ไม่เลือกเป้าหมาย

- ใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง