รีเซต

เอกสารลับ "ซินเจียง เปเปอร์" ตีพิมพ์ แฉผู้นำจีนโยงปราบปราม "อุยกูร์"

เอกสารลับ "ซินเจียง เปเปอร์" ตีพิมพ์ แฉผู้นำจีนโยงปราบปราม "อุยกูร์"
ข่าวสด
30 พฤศจิกายน 2564 ( 19:30 )
53
เอกสารลับ "ซินเจียง เปเปอร์" ตีพิมพ์ แฉผู้นำจีนโยงปราบปราม "อุยกูร์"

 

เอกสารลับ "ซินเจียง เปเปอร์" - วันที่ 30 พ.ย. บีบีซี รายงานว่า เอกสารลับชุดใหม่ที่มีชื่อ "ซินเจียง เปเปอร์" ตีพิมพ์อย่างสมบูรณ์แล้ว หลังรั่วไหลออกมา ซึ่งเปิดเผยความเชื่อมโยงโดยตรงกับผู้นำระดับสูงของประเทศจีน รวมถึงประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กับการปราบปรามชาวมุสลิมอุยกูร์ของรัฐจีน

 

เอกสารดังกล่าวรวมถึงคำพูดซึ่งนักวิเคราะห์ระบุว่า เป็นหลักฐานพิสูจน์ว่า ผู้นำระดับสูงของรัฐบาลจีนเรียกร้องมาตรการที่นำไปสู่การกักขังและบังคับใช้แรงงาน แต่จีนปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์

 

เอกสารบางส่วนเป็นเรื่องของรายงานอีกฉบับหนึ่งก่อนหน้านี้ แต่ข้อมูลล่าสุดที่รั่วไหลออกมาเป็นข้อมูลไม่เคยเห็นมาก่อนหน้านี้ หลังถูกส่งไปศาลประชาชนอิสระอุยกร์ในอังกฤษ เมื่อเดือนก.ย.ปีนี้ แต่ไม่เคยมีการเผยแพร่อย่างครบถ้วนมาก่อน

 

เอกสารดังกล่าวมีขึ้นหลังซินเจียง ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวอุยกูร์ส่วนใหญ่ของจีน เผยวิธีที่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมถึง ประธานาธิบดีสี และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ออกแถลงการณ์จำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่นโยบายโดยตรงที่กระทบชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมอื่นๆ โดยตรง

 

รวมถึงการบังคับกักขัง การทำหมันในวงกว้าง การบังคับซึมซับวัฒนธรรมอื่น "การปรับทัศนคติ" และการบังคับชาวอุยกูร์ที่ถูกคุมขังทำงานในโรงงานต่างๆ

 

หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทม์ รายงานเกี่ยวกับชุดเอกสารชุดเดียวกันที่รั่วไหลมาถึงมือของสื่ออเมริกันเจ้านี้ในปี 2562 แต่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะทั้งหมด โดยดอกเตอร์ เซ็นซ์ ผู้เขียนรายงานดังกล่าว เผยว่า ความเชื่อมโยงระหว่างแถลงการณ์โดยบุคคลรัฐบาลระดับสูง และนโยบายที่ออกมา ที่ดำเนินต่อชาวอุยกูร์นั้น กว้างขวาง มีรายละเอียด และสำคัญกว่าที่เข้าใจกันก่อนหน้านี้มาก

 

จีนอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักจากนานาชาติต่อข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในแนวทางของจีนในภูมิภาคนี้ย้อนกลับไปตั้งแต่เหตุการโจมตีคนอย่างรุนแรงบนถนน 2 ครั้งในกรุงปักกิ่งในปี 2556 และเมืองคุนหมิงในปี 2557 ซึ่งจีนโทษกลุ่มอิสลามิสต์อุยกูร์และกลุ่มแบ่งแยกดินแดน

 

ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ทางการตอบโต้ด้วยการสร้างค่ายที่เรียกว่าปรับทัศนคติสำหรับชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมอื่นๆ และการพุ่งเป้าชาวซินเจียงที่เข้าข่ายแสดงพฤติกรรมใดๆ ที่ถูกมองว่าเป็นสัญญาณของความไม่น่าเชื่อใจ

 

จีนยังเร่งยุทธศาสตร์แรงงานบังคับด้วยการส่งชาวอุยกูร์ไปเก็บฝ้ายในซินเจียง นอกจากนี้ มีรายงานว่า จีนใช้กำลังบังคับทำหมันสตรีชาวอุยกูร์จำนวนมาก เพื่อกำจัดประชากร แยกเด็กออกจากครอบครัว และพยายามทำลายประเพณีวัฒนธรรมของกลุ่ม

 

หลายประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเนเธอร์แลนด์ กล่าวหาจีนก่อฆาตกรรมล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญกรรมต่อมนุษยชาติ แต่จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้อย่างแข็งกร้าว โดยกล่าวว่า การปราบปรามในซินเจียงมีความจำเป็นเพื่อป้องกันการก่อการร้ายและขจัดลัทธิอิสลามสุดโต่ง และค่ายกักกันเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับ "การให้ความรู้ใหม่" แก่นักโทษในการต่อสู้กับการก่อการร้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง