นักวิทย์ฯ รักษาอาการตาบอด (ในหนู) ได้สำเร็จ ด้วย Gene Therapy
อาการตาบอดที่เกิดจากโรคความเสื่อมของจอตา ปัจจุบันยังไม่พบวิธีรักษาที่ได้ผล ทำได้เพียงแค่ชะลอความรุนแรงของโรคเท่านั้น ทว่า การค้นพบทางวิทยาศาสตร์นี้ อาจช่วยให้ผู้ป่วยโรคจอตาเสื่อมกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง
ที่มาของภาพ http://biotech.ws/gene-therapy-and-light-sensing-protein-restores-vision-in-mice
บริษัท Nanoscope ร่วมกับบริษัทย่อยของสถาบันจักษุวิทยาแห่งชาติ ได้พัฒนาโปรตีน MC01 opsin ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรับแสง เพื่อนำมาทดลองคืนสภาพการมองเห็น ให้แก่หนูทดลองที่มีอาการตาบอดจากจอตาเสื่อม
ปกติแล้วโรคจอตาเสื่อมในมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นจอตาเสื่อมจากอายุ หรือจอตาเสื่อมจากเม็ดสีที่ถูกทำลายไป (Retinitis pigmentosa) พูดง่าย ๆ คือปราศจากเซลล์รับแสงและสี ผู้ป่วยจะไม่สามารถรับภาพจากสิ่งแวดล้อมแล้วส่งไปยังเซลล์ประสาทภายในเรตินาได้ ส่งผลเกิดอาการตาบอด เพราะฉะนั้น หากเราสามารถฟื้นฟูการรับภาพด้วยชิ้นส่วนที่ทดแทนเซลล์รับแสงสี ผู้ป่วยก็จะกลับมามองเห็นอีกครั้งหนึ่ง
เซลล์ Rod และ Cone คือเซลล์รับแสงสี เพื่อส่งภาพไปยังเซลล์ประสาท (Bipolar cell) หากเซลล์ Rod และ Cone สูญเสียไปหรือไม่ทำงาน ก็จะทำให้ผู้ป่วยมองไม่เห็นได้
ที่มาของภาพ https://interestingengineering.com/new-light-sensing-protein-restores-vision-in-mice-via-gene-therapy-study-says
ในการทดลองนี้ นักวิจัยจะนำโปรตีน MC01 opsin ยึดติดกับเซลล์ประสาทที่อยู่ด้านหลังเรตินา โปรตีนชนิดนี้จะทำหน้าที่แทนเซลล์รับแสงสี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรับภาพจากสิ่งแวดล้อม แล้วส่งต่อภาพไปยังเซลล์ประสาท กระบวนการเหล่านี้เรียกว่าการทำ Gene Therapy และโปรตีนชนิดนี้คือตัวช่วยฟื้นฟูวงจรการมองเห็นให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
หลังการทำ Gene Therapy ในหนูทดลอง พบว่าหนูที่ได้รับการรักษาด้วยการเชื่อมต่อโปรตีน MC01 เข้ากับเซลล์ประสาทในดวงตา มีการตอบสนองต่อแสงที่ดีขึ้น ดีจนกระทั่งมันสามารถหาทางออกจากเขาวงกตได้ โดยไม่พบผลข้างเคียงจากการรักษาเลย
ที่มาของภาพ https://statnano.com/news/68128/Scientists-Use-Gene-Therapy-and-a-Novel-Light-Sensing-Protein-to-Restore-Vision-in-Mice
คาดว่าในอนาคตกระบวนการนี้อาจนำมาปรับใช้กับมนุษย์ที่ป่วยเป็นโรคจอตาเสื่อม และน่าจะได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจเช่นเดียวกับที่พบในหนูทดลอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering