รีเซต

วิเคราะห์การระบาดโควิด-19 ของไทย คาดยอดติดเชื้อแต่ละวัน 5,000-7,000 ราย

วิเคราะห์การระบาดโควิด-19 ของไทย คาดยอดติดเชื้อแต่ละวัน 5,000-7,000 ราย
TNN ช่อง16
22 มกราคม 2567 ( 11:57 )
34
วิเคราะห์การระบาดโควิด-19 ของไทย คาดยอดติดเชื้อแต่ละวัน 5,000-7,000 ราย

หมอธีระ วิเคราะห์การระบาดโควิด-19 ของไทย คาดยอดติดเชื้อรายใหม่แต่ละวันอย่างน้อย 5,129-7,124 ราย


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 14 - 20 มกราคม 2567 ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) จำนวน 718 ราย : เฉลี่ยรายวัน จำนวน 102 ราย/วัน

ผู้เสียชีวิต (รายสัปดาห์) จำนวน 11 ราย : เฉลี่ยรายวัน จำนวน 1 ราย/วัน


ผู้ป่วยสะสม 1,343 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567) เสียชีวิตสะสม 18 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567) ผู้ป่วยปอดอักเสบ 209 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 149 ราย



ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยระบุว่า ...วิเคราะห์การระบาดของไทย...

ตัวเลขรายงานรายสัปดาห์ 14-20 มกราคม 2024...สัปดาห์หลังวันเด็กแห่งชาติ

จำนวนป่วยนอนโรงพยาบาล 718 ราย เสียชีวิต 11 ราย ปอดอักเสบ 209 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 149 ราย


เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนแล้ว จำนวนป่วยนอนรพ.สูงขึ้น 14.9% ตายเพิ่มขึ้น 57.1% ปอดอักเสบมากขึ้น 18.1% และต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นถึง 19.2%

ทั้งจำนวนป่วยนอนรพ. จำนวนปอดอักเสบ และจำนวนใส่ท่อนั้น นับว่าสูงที่สุดในรอบ 6 เดือน


...คาดประมาณการติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันอย่างน้อย 5,129-7,124 ราย...

แต่ด้วยสภาพปัจจุบันที่มีคนติดเชื้อรอบตัวจำนวนมาก ป่วยและรักษาตัวที่บ้าน รวมถึงการมีคนป่วยแต่ไม่ไปตรวจ และเรื่องความไวของการตรวจที่ผันแปรกับระยะเวลาที่ไวรัสจะขึ้นสูงจนถึงพีค ประเมินว่าจำนวนจริงต่อวันจะมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ข้างต้นอีกเท่าตัว 

ดังที่เคยบอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่า หลังวันเด็กแห่งชาติ จะมีการแพร่มากขึ้นในครัวเรือน และสถานศึกษา 


หากมีอาการไม่สบาย ควรตรวจโควิด-19 แม้วันแรกๆ ได้ผลลบ อย่าชะล่าใจ ให้ตรวจถึงวันที่ 4-5 หลังจากเริ่มมีอาการ เพราะไวรัสจะพีคช่วงนั้น 

ที่สำคัญคือ การตรวจ ATK ควรทำการป้ายทั้งในโพรงจมูกและบริเวณผนังคอด้านหลัง (คอหอย) จะช่วยเพิ่มโอกาสตรวจพบมากขึ้น

ความใส่ใจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ...ควรป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ 

การใส่หน้ากาก ไม่แชร์ของกินของใช้ และเลี่ยงคลุกคลีใกล้ชิดคนที่ไอหรือจาม จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้

ติดแต่ละครั้ง เสี่ยงต่อปัญหาเรื้อรังอย่าง Long COVID อีกด้วย




ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ / กรมควบคุมโรค  

ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง