ย้อนอดีต “ภาพถ่ายติดวิญญาณ” เมื่อเทคโนโลยีถูกนำมาใช้เพื่อการหลอกลวง
เมื่อเทคโนโลยีสักชิ้นหนึ่งเกิดขึ้น มันไม่เพียงส่งผลกระทบต่อความสะดวกสบายเท่านั้น แต่อาจจะส่งผลต่อความคิดและความเชื่อของผู้คนด้วย เช่นเดียวกับช่วงแรกที่กล้องถ่ายภาพถูกประดิษฐ์ขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 มันได้เปลี่ยนมุมมองของมนุษย์ไปอย่างสิ้นเชิง ไม่เพียงแต่บันทึกและส่งข้อมูล มันยังช่วยลดอุปสรรคด้านระยะทางและเวลา กล่าวคือมนุษย์สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ไกลออกไป หรือสามารถมองเห็นใบหน้าของคนที่จากไปแล้วได้ผ่านภาพถ่ายเพียงภาพเดียว นับว่ามันส่งผลกระทบอย่างมาก จนถึงขนาดที่ว่ามีบางคนเชื่อว่าการถ่ายภาพ สามารถทำลายช่องว่างระหว่างคนเป็นกับคนตายได้ จนกระทั่งเกิดเป็นวัฒนธรรมการถ่ายภาพวิญญาณขึ้นมา
การถ่ายภาพวิญญาณเริ่มขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ขบวนการลัทธิภูตผีปีศาจได้รับความสนใจอย่างมาก มีช่างภาพจำนวนหนึ่งที่พัฒนาเทคนิคการถ่ายภาพจนสามารถถ่ายภาพที่เหมือนปรากฏวิญญาณของผู้ที่จากไปแล้วได้
ช่างภาพที่มีชื่อเสียงมาก ๆ ในเรื่องนี้ และถือเป็นผู้บุกเบิกวัฒนธรรมการถ่ายภาพวิญญาณก็คือ วิลเลียม มัมเลอร์ (William Mumler) เขาคิดค้นวิธีการนี้ในช่วงสงครามกลางเมือง ที่มีผู้คนเสียชีวิตมากมายและคนที่ยังอยู่ก็ล้วนโศกเศร้า ภาพถ่ายวิญญาณจึงเหมือนเป็นสิ่งที่เอาไว้ยึดเหนี่ยวให้คนที่ยังอยู่ ระลึกถึงคนตาย มัมเลอร์คิดเงินการถ่ายภาพวิญญาณ ภาพละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ ตีเป็นเงินไทยโดยใช้เรตปัจจุบันมันจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 350 บาท และเงิน 10 ดอลลาร์สหรัฐ ในยุคสมัยนั้นก็ไม่ได้น้อยเลย ถึงแม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ แต่มันก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
โจลีน ลูโป (Jolene Lupo) ผู้จัดการของเพนัมบรา ทินไทป์ สตูดิโอ (Penumbra Tintype Studio) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสดงผลกำไรสัญชาติสหรัฐฯ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับศึกษารูปแบบการถ่ายภาพทางประวัติศาสตร์ชี้ถึงเหตุผลที่ผู้คนเชื่อว่ากล้องถ่ายภาพสามารถถ่ายวิญญาณได้ว่า “การถ่ายภาพถือเป็นเรื่องที่ใหม่มากในเวลานั้น ผู้คนรู้ว่ากล้องถ่ายภาพสามารถมองเห็นได้มากกว่าที่ตามนุษย์มองเห็น แต่ก็ไม่ได้เข้าใจขอบเขตของเทคโนโลยีเท่าไหร่นัก”
วิญญาณที่ปรากฏในภาพถ่ายนั้นถือว่ามีความสมจริงมาก หนึ่งในภาพที่โด่งดังมาก ๆ ของมัมเลอร์ คือภาพถ่ายของแมรี่ ท็อดด์ ลินคอล์น (Mary Todd Lincoln) สุภาพสตรีหมายเลข 1 ภรรยาของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างอับราฮัม ลินคอร์น (Abraham Lincoln) ซึ่งถ่ายหลังจากที่ อับราฮัม ลินคอร์น ถูกลอบสังหาร 5 ปี
ลูโปกล่าวว่า “ช่างภาพแต่ละคนมีจุดขายของตัวเอง” แม้จะไม่ได้บอกว่าเทคนิคคืออะไร แต่หากมองในกรอบความรู้ปัจจุบัน เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ภาพถ่ายวิญญาณที่ปรากฏนั้นอาจเป็นการใช้เทคนิคบางอย่าง เช่น ใช้สารเคมีในกล้อง หรือบางอย่างที่ทำให้ห้องมืด
ทั้งนี้ในช่วงทศวรรษที่ 1860 เทคนิคการถ่ายภาพที่เป็นที่นิยมมาก ๆ คือเทคนิคที่เรียกว่า กลาส เนกาทีฟ (Glass Negative) ซึ่งจะเป็นแผ่นแก้วเคลือบด้วยอิมัลชันไวต่อแสง อิมัลชันจะทำให้ส่วนที่สว่างที่สุดในรูปมืดลง ในขณะที่ก็ทำให้ส่วนที่มืดสว่างขึ้น จากนั้นฟิล์มเนกาทีฟก็จะถูกนำไปพัฒนาต่อ ซึ่งก็จะเป็นการนำสารละลายเคมีมาใช้เพื่อดึงเอาภาพที่แฝงอยู่ออกมา ก่อนจะนำไปพิมพ์เป็นภาพถ่าย
ซึ่งเทคนิคนี้ก็ทำให้เกิดการทดลองเทคนิคการแต่งภาพมากมาย หนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมมาก ๆ ก็คือ การซ้อนทับฟิล์มเนกาทีฟหลายตัวในระหว่างกระบวนการพิมพ์ ซึ่งทำให้เกิดการซ้อนทับของภาพหลายภาพ จนบางครั้งอาจดูเหมือนเป็นวิญญาณนั่นเอง อีกวิธีหนึ่งก็คือการใช้เพลตถ่ายภาพเก่ามาถ่ายโดยไม่ทำความสะอาดก่อน ทั้งนี้เพลตถ่ายภาพเป็นสื่อกลางในการถ่ายภาพ ต้องล้างทำความสะอาดใหม่ก่อนนำไปถ่ายใหม่ หากไม่ล้างก่อน ภาพเก่าที่ตกค้างอยู่ที่เพลต ก็อาจไปซ้อนทับกับภาพที่ถ่ายใหม่ ทำให้ภาพซ้อนทับกันมองดูคล้ายมีวิญญาณนั่นเอง
แต่ในภายหลัง ผู้คนก็ตั้งข้อสังเกตว่าการถ่ายภาพวิญญาณนั้นเป็นการหลอกลวง ผู้คนเริ่มเข้าใจว่านี่ไม่ใช่การถ่ายภาพวิญญาณของคนที่จากไปจริง ๆ มาถึงจุดนี้แล้ว เหมือนกับว่าวัฒนธรรมนี้จะต้องหมดไป แต่เปล่าเลย วัฒนธรรมการถ่ายภาพวิญญาณยังคงดำเนินต่อไป ลูโปชี้ว่า “ผู้คนสนุกสนานกับมัน พวกเขารู้ว่าสิ่งที่ปรากฏในภาพ อาจไม่ใช่วิญญาณของคนที่รัก แต่ก็น่าตื่นเต้นที่จะได้เห็นมันเป็นครั้งแรก”
ที่มาข้อมูล Popsci, The Collector