รีเซต

“ความไม่ยุติธรรมของโลกร้อน” ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่า 1% แต่เจอผลร้ายแรงกว่ามหาอำนาจ

“ความไม่ยุติธรรมของโลกร้อน” ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่า 1% แต่เจอผลร้ายแรงกว่ามหาอำนาจ
TNN ช่อง16
17 กันยายน 2567 ( 13:12 )
28

สิ่งที่เราเห็นอยู่  ปัจจุบันนี้ เป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นแทบจะทุกปี แต่ยิ่งนานวัน รูปแบบของสภาพอากาศเริ่มรุนแรงและถี่มากขึ้น จนเรียกได้ว่า เป็นภัยพิบัติที่อยู่ในขั้นทำลายล้าง และสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง 


ต้นเหตุที่ทำให้ภัยพิบัติรุนแรงเช่นนี้ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เป็นตัวเร่งทำให้โลกเกิดความแปรปรวน และหากหลายประเทศทั่วโลก ไม่เริ่มดำเนินการนโยบาย เพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง “วันสิ้นโลก” อาจเข้ามาหาพวกเราเร็วกว่าที่คิด โดยไม่ต้องมีอุกกาบาตนอกโลกลูกไหนพุ่งมาชนเลย


---โลกร้อน ทำภัยพิบัติรุนแรงขึ้น--- 


ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีทั่วทุกมุมโลก แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ทำให้รูปแบบของสภาพอากาศรุนแรงมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้พายุก่อตัวใกล้ชายฝั่งมากขึ้น รุนแรงเพิ่มขึ้น และอยู่บนบกได้นานขึ้น 


ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน และใกล้ตัวพวกเรามากที่สุด คือ ผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงไปทั่วเอเชีย โดยเฉพาะประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น เวียดนามลาวเมียนมา และไทย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทะลุเกิน 500 ราย บาดเจ็บและสูญหายอีกจำนวนมาก รวมถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่อาจเสียหายแตะหลายหมื่นล้านบาท 


ข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO ชี้ว่า ปี 2566 ภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากภัยพิบัติจากสภาพอากาศและอุทกภัย เป็นสาเหตุทำให้เกิดความสูญเสียทั้งทางเศรษฐกิจและชีวิตจำนวนมาก 


เอเชียมีรายงานการเกิดภัยพิบัติที่เกิดจากสภาพอากาศหรือน้ำรวมทั้งสิ้น 79 ครั้งในปี 2566 โดยในจำนวนนี้ มากกว่า 80% เป็นภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมและพายุ มียอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน และผู้คนกว่า 9 ล้านคนได้รับผลกระทบโดยตรง 


หลายประเทศในภูมิภาคนี้ ต้องเผชิญกับปีที่ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2566 ควบคู่ไปกับสภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้ว ตั้งแต่ภัยแล้งคลื่นความร้อนน้ำท่วม และพายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวเร่งให้ภัยพิบัติเหล่านี้รุนแรงและเกิดถี่ขึ้น ส่งผลกระทบหนักต่อสังคมเศรษฐกิจ ที่สำคัญสุดคือ ชีวิตมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมที่พวกเราอาศัยอยู่” เซเลสต์ เซาโล เลขาธิการ WMO กล่าว


---ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ แต่แบกผลกระทบหนัก--- 


เราทราบกันดีว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ส่วนหนึ่งมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากสุดเป็นอันดับต้น  ของโลก มักมาจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น จีน สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ อียู เป็นต้น และส่วนใหญ่จะมาจากภาคอุตสาหกรรมพลังงาน


ขณะเดียวกัน ไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า 1% ของทั้งโลก แต่กลายเป็นหนึ่งในอีกหลายประเทศที่ต้องแบกรับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะโลกร้อน


ไทยได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดในระยะยาวจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงระหว่างปี 2542-2562 หนึ่งในอาชีพที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเกษตรกรไทยกว่า 12 ล้านคน ที่คิดเป็น 1 ใน 6 ของคนไทย 


ภาคอุตสาหกรรมของไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ ภาคพลังงาน คิดเป็น 69.06% รองลงมาเป็นภาคเกษตร คิดเป็น 15.69% ตามด้วยภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ คิดเป็น 10.77% สุดท้ายเป็นภาคของเสีย คิดเป็น 4.88% 


ด้านโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP เปิดเผยว่า การสะสมของก๊าซเรือนกระจกไม่เพียงก่อให้เกิดสภาพอากาศรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตมนุษย์และธรรมชาติ แต่ยังนำไปสู่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล โดยคาดว่า ผลกระทบสะสมต่อภาคเกษตรไทย สามารถสร้างความเสียหายเป็นมูลค่ารวมสูง 17,912 ถึง 83,826 ล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2554-2588


---โลกร้อนกระทบคนแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน---


โลกร้อนกระทบต่อทุกภาคส่วนและต่อทุกคน แต่ส่งผลกระทบต่อคนแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน โดยเฉพาะคนที่ทำงานในภาคส่วนที่มีความอ่อนไหวสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและไม่มีศักยภาพการรับมือต่อผลกระทบได้ดีนักจะได้รับผลกระทบสูงกว่าคนกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ และกลุ่มธุรกิจที่จำเป็นต้องพึ่งพาสภาพอากาศและทรัพยากรธรรมชาติในการหาเลี้ยงชีพอย่างภาคการท่องเที่ยว 


โดยเฉพาะในส่วนที่ดำเนินการโดยผู้ประกอบการรายย่อย หรือในภาคเกษตรกรรม ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 15.69% แต่ก็มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงเนื่องจากการประกอบอาชีพขึ้นอยู่กับสภาพอากาศโดยตรง


นอกจากนี้ หนึ่งในกลุ่มคนที่เปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากสุด คือ ผู้หญิง เด็ก และกลุ่มชาติพันธุ์ 


UNDP ชี้ว่า สถานการณ์น้ำท่วมเชียงรายและหลายจังหวัดภาคเหนือสะท้อนภาวะโลกรวน ที่หลายพื้นที่กำลังเจอกับฝนตกหนัก อากาศแปรปรวน สอดคล้องกับรายงาน WMO ที่ชี้ว่า โลกรวนทำให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเจอกับสภาพอากาศสุดขั้วรุนแรงที่สุดในปี 2566 เช่น ฝนตกหนัก ระดับน้ำของแม่น้ำโขงลดลง


ขณะที่ รายงานแห่งชาติ (NC4) ชี้ว่า ภาคอีสานและภาคเหนือเสี่ยงภัยพิบัติหนัก ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ เก็บเกี่ยวผลผลิตล้มเหลว กระทบปากท้องเกษตรกร สัตว์สูญพันธุ์ จนถึงน้ำปนเปื้อนที่นำไปสู่โรคระบาด 


---ทั่วโลกเร่งรับมือ ก่อนสายเกินไป--- 


ผู้นำทั่วโลกต่างก็พยายามวางแผนรับมือควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มสูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมถึงต้องระดมเงินทุนให้ได้ปีละ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ดำเนินการนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน ขณะเดียวกัน หลายชาติก็ต้องการบรรลุเป้าหมายให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050 จากการร่วมประชุม COP26


สำหรับไทยมีเป้าหมายรับมือภาวะโลกร้อน คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ประมาณ 30-40% จากการดำเนินชีวิตประจำวัน ภายในปี 2030, เป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และทำให้ประเทศเป็น Net Zero ภายในปี 2065


ทั้งนี้ ความเสี่ยงของประเทศไทยที่เกิดขึ้น ยิ่งตอกย้ำว่า แผนการรับมือกับภาวะโลกรวนเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องแก้ปัญหาผ่านหลายแนวทาง เช่น งบประมาณที่ต้องบูรณาการเรื่องโลกรวนเพื่อให้เราตั้งรับได้ นโยบายของทุกภาคส่วน ตั้งแต่มิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ต้องมองเรื่องโลกรวนเข้าไปเป็นหนึ่งในปัจจัย ไม่มองแยกขาดจากกัน การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถนน หนทางที่ประเมินความเสี่ยงเรื่องโลกรวน จนถึงปรับแนวทางภาคเกษตรให้สอดรับและยืดหยุ่นกับผลกระทบและความเสี่ยง


แปล-เรียบเรียงพรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.iea.org/reports/co2-emissions-in-2023/the-changing-landscape-of-global-emissions

https://wmo.int/media/news/climate-change-and-extreme-weather-impacts-hit-asia-hard

https://www.undp.org/stories/greenhouse-emissions-thailand-th

https://bit.ly/3xYMqXh

https://bit.ly/4dD5vyl

https://bit.ly/3Qw2WEJ

https://bit.ly/3xYMqXh

https://bit.ly/3Vs4aUb

ข่าวที่เกี่ยวข้อง