รีเซต

โควิด : อิสราเอลห้ามต่างชาติเข้าประเทศสกัดโอไมครอน อังกฤษปรับเกณฑ์เข้าประเทศหลังพบเชื้อนี้

โควิด : อิสราเอลห้ามต่างชาติเข้าประเทศสกัดโอไมครอน อังกฤษปรับเกณฑ์เข้าประเทศหลังพบเชื้อนี้
ข่าวสด
28 พฤศจิกายน 2564 ( 11:35 )
101
โควิด : อิสราเอลห้ามต่างชาติเข้าประเทศสกัดโอไมครอน อังกฤษปรับเกณฑ์เข้าประเทศหลังพบเชื้อนี้

อิสราเอลประกาศห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศ 2 สัปดาห์ ส่วนอังกฤษปรับเกณฑ์รับผู้เข้าประเทศอีกครั้งหลังพบโอไมครอน เชื้อโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ในผู้เดินทางกลับจากตอนใต้ของทวีปแอฟริกา 2 ราย

 

ด้านเยอรมนี และอิตาลีก็ตรวจพบเชื้อนี้ในนประเทศแล้ว

 

นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร แถลงต่อผู้สื่อข่าวเมื่อ 27 พ.ย. ว่าจะนำการบังคับใส่หน้ากากอนามัยในระบบขนส่งสาธารณะ และในร้านค้ามาใช้อีกครั้ง เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ประชาชน และเปลี่ยนกลับมาให้ผู้เดินทางเข้าประเทศต้องตรวจหาเชื้อโควิดแบบพีซีอาร์แทนการตรวจด้วยชุดตรวจเร็ว (Rapid Antigen Test)

 

"เราจะกำหนดให้ทุกคนที่เข้าสู่สหราชอาณาจักรต้องรับการตรวจแบบพีซีอาร์ ภายใน 2 วันหลังมาถึง และต้องกักตัวเองจนกว่าผลทดสอบที่เป็นลบจะออกมา"

 

การตรวจพีซีอาร์ (PCR) ย่อมาจาก polymerase chain reaction หรือปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส ถือเป็นวิธีการตรวจโควิด-19 ที่แม่นยำที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยตรวจจับกรดไรโบนิวคลีอิก (ribonucleic acid) หรือ อาร์เอ็นเอ (RNA) ของเชื้อไวรัสโคโรนาก่อโรคโควิด ซึ่งเป็นโมเลกุลลักษณะเดียวกับดีเอ็นเอ

 

การตรวจพีซีอาร์ต้องทำในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (ห้องแล็บ) เพื่อตรวจหา RNA ที่มีปริมาณน้อยมาก และมักได้ผลออกมาภายใน 24 ชั่วโมง

 

นายจอห์นสันเสริมว่า ผู้ที่สัมผัสกับคนที่รับเชื้อโอมิครอนต้องกักตัวเป็นเวลา 10 วัน และจะทบทวนมาตรการเหล่านี้หลังบังคับใช้ไปแล้ว 3 สัปดาห์

 

ทางการสาธารณสุขของอังกฤษแถลงเมื่อ 27 พ.ย ว่า พบผู้เดินทางมาจากทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา 2 รายในประเทศ ที่ได้รับการยืนยันว่า ติดเชื้อโอไมครอน

 

สายพันธุ์ "น่ากังวล"

องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงเมื่อ 26 พ.ย. ประกาศให้เชื้อโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ที่พบทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา เป็นสายพันธุ์ที่ "น่ากังวล" โดยให้ชื่อว่า โอไมครอน (Omicron)

 

WHO แถลงด้วยว่า เชื้อนี้มีการกลายพันธุ์ในหลายจุด และหลักฐานเบื้องต้นพบว่ามีความเสี่ยงที่จะติดซ้ำได้

 

ประเทศแอฟริกาใต้รายงานการพบเชื้อนี้ไปยังองค์การอนามัยโลกเมื่อ 24 พ.ย. และมีการยืนยันว่าถูกพบใน บอตสวานา เบลเยียม ฮ่องกง และอิสราเอล ส่งผลให้หลายประเทศประกาศห้าม หรือจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเหล่านั้นกับประเทศทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา

 

โอไมครอนถือเป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดที่ 5 ที่องค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล หลังจากสายพันธุ์อัลฟา, เบตา, แกมมา และเดลตา

 

ความไม่ชัดเจนต่อความรุนแรงของสายพันธุ์นี้ ทำให้นานาชาติรวมถึงไทยออกมาตรการควบคุมการเดินทางจากประเทศในทวีปแอฟริกาใต้

 

ล่าสุด นายนัฟตาลี เบนเนตต์ นายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์เมื่อ 27 พ.ย. ว่าอิสราเอลจะห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเป็นเวลา 14 วัน นับแต่เที่ยงคืนเศษของ 29 พ.ย. ส่วนชาวอิสราเอลที่เดินทางเข้าประเทศต้องถูกกักตัว ระหว่างนี้รัฐบาลหวังว่าจะมีข้อมูลมากขึ้นว่าวัคซีนที่มีอยู่มีประสิทธิภาพเพียงไรในการรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์นี้

 

นายเบนเนตต์ บอกด้วยว่า จะนำเทคโนโลยีการติดตามโทรศัพท์เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายกลับมาใช้อีกครั้งเพื่อป้องกันการระบาดของเขื้อกลายพันธุ์นี้

 

 

พบใน เยอรมนี อิตาลี

กระทรวงสาธารณสุขของเยอรมนีแถลงเมื่อ 27 พ.ย. ว่า ทางการรัฐบาวาเรียได้พบเชื้อนี้ในผู้เข้าประเทศ 2 รายผ่านทางสนามบินมิวนิก เมื่อ 24 พ.ย. และกำลังอยู่ระหว่างการกักตัว แต่กระทรวงไม่ได้แถลงชัดเจนว่า 2 คนนี้เดินทางมาจากแอฟริกาใต้หรือไม่

 

ในอิตาลี สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติแถลงว่า พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ 1 รายในเมืองมิลาน ซึ่งเดินทางมาจากโมซัมบิก

 

ส่วนหน่วยงานสาธารณสุขของสาธารณรัฐเช็ก แถลงว่า กำลังพิสูจน์ผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งที่มาจากนามิเบียว่าติดเชื้อกลายพันธุ์นี้หรือไม่

 

คริส วิตตี หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของอังกฤษ ที่ยืนแถลงข่าวคู่กับนายจอห์นสัน กล่าวว่า แม้ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากถึงฤทธิ์ของเชื้อกลายพันธุ์นี้ แต่ "ก็มีโอกาสพอสมควรที่สายพันธุ์นี้อาจหลุดรอดความสามารถของวัคซีนไปได้ในระดับหนึ่ง" ดังนั้น ทางการอังกฤษจึงระดมฉีดวัคซีนเข็ม 2 ให้วัยรุ่น และเข็ม 3 ให้แก่ผู้ใหญ่วัย 40 ปีขึ้นไป

 

น่ากังวลอย่างไร

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของประเทศแอฟริกาใต้ ตรวจพบการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ชนิดใหม่ ซึ่งมีการกลายพันธุ์อย่างรุนแรงในยีนหลายสิบตำแหน่ง ทำให้หวั่นเกรงกันว่าเชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้อาจแพร่ระบาดได้ง่าย และเป็นอันตรายยิ่งกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ทั่วโลกเคยพบมา

 

ไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ดังกล่าว แรกเริ่มมีชื่อในทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.1.529 ก่อนที่ WHO จะตั้งชื่อเรียกให้ตามลำดับตัวอักษรกรีกว่า โอไมครอน

 

เจ้าหน้าที่พบการระบาดในจังหวัดเคาเต็ง (Gauteng) ของแอฟริกาใต้เป็นหลัก นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อในประเทศบอตสวานา รวมทั้งพบกรณีที่ผู้ติดเชื้อเดินทางจากแอฟริกาใต้ไปยังฮ่องกงด้วยเที่ยวบินตรงอีก 1 ราย

 

ศาสตราจารย์ ทูลิโอ เด โอลิเวรา ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและการรับมือโรคระบาดของแอฟริกาใต้ บอกว่าไวรัสโควิดชนิดใหม่นี้มีการกลายพันธุ์ของยีนรวมทั้งสิ้นถึง 50 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าผิดปกติอย่างยิ่งและทำให้มันมีความแตกต่างจากเชื้อโควิดกลายพันธุ์อื่น ๆ ที่เคยพบมาเป็นอย่างมาก

 

  • การกลายพันธุ์แบบเหนือความคาดหมายนี้ จัดเป็นการกลายพันธุ์ของโปรตีนบนส่วนหนามของไวรัสถึง 32 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนดังกล่าวมีความสำคัญยิ่ง ในการเป็นกุญแจที่ไวรัสใช้ไขประตูเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์

 

นอกจากนี้ยังพบการกลายพันธุ์ที่ส่วนตัวรับ (receptor binding domain) ซึ่งไวรัสใช้จับยึดกับเซลล์ของคนเราถึง 10 ตำแหน่งด้วย ในขณะที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่ร้ายแรงอย่างสายพันธุ์เดลตา มีการกลายพันธุ์ในส่วนนี้เพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้น

 

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การกลายพันธุ์อย่างรุนแรงในลักษณะนี้ น่าจะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อในผู้ป่วยเพียงรายเดียว โดยร่างกายของผู้ป่วยที่เป็นต้นตอของการกลายพันธุ์ดังกล่าว ไม่สามารถต่อสู้ต้านทานกับเชื้อโรคได้

..............

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง