รีเซต

'กัมพูชา' ตั้งเป้าก้าวขึ้นสู่ 'ประเทศรายได้สูง' ภายในปี 2050

'กัมพูชา' ตั้งเป้าก้าวขึ้นสู่ 'ประเทศรายได้สูง' ภายในปี 2050
Xinhua
24 กันยายน 2566 ( 19:01 )
103

พนมเปญ, 24 ก.ย. (ซินหัว) -- ฮุนมาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเผยว่ากัมพูชาได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเปลี่ยนสถานะประเทศให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2050

แถลงการณ์ของฮุนมาเนตถูกเผยแพร่ต่อสื่อเมื่อวันเสาร์ (23 ก.ย.) หลังเขากล่าวสุนทรพจน์นี้ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ (UNGA) ครั้งที่ 78 ณ นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ (22 ก.ย.) ตามเวลานิวยอร์ก

ฮุนมาเนตกล่าวว่า เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาประเทศอื่นๆ กัมพูชายังมีงานอีกมากที่ต้องทำเพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2030 และเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ที่มีความยืดหยุ่น มีชีวิตชีวา และเจริญรุ่งเรืองภายในปี 2050 และเพื่อบรรลุจุดประสงค์ข้างต้น รัฐบาลกัมพูชาจึงมุ่งดำเนินการเพื่อเปลี่ยนสถานะผ่านยุทธศาสตร์ห้าเหลี่ยม (Pentagonal Strategy) ว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชาในอีก 25 ปีข้างหน้า ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานนี้

ฮุนมาเนตชี้ว่ายุทธศาสตร์ห้าเหลี่ยมกำลังดำเนินการระยะที่ 1 ใน 5 ด้าน ได้แก่ การเติบโต การจ้างงาน ความเสมอภาค ประสิทธิภาพ และความยั่งยืน พร้อมเสริมว่าหลักสำคัญ 5 ประการของยุทธศาสตร์นี้ ได้แก่ ผู้คน ถนน น้ำ ไฟฟ้า และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัล

ฮุนมาเนตเผยว่ากัมพูชากำลังเปลี่ยนสถานะจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุดก้าวขึ้นสู่ประเทศกำลังพัฒนาภายในปี 2027 เขาคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาจะโตขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.6 ในปี 2023 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.2 ในปี 2022

ด้าน เพ็ญ โสวิชิต ปลัดและโฆษกกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา กล่าวว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-สาธารณรัฐเกาหลี (CKFTA) จะช่วยกัมพูชาหลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และบรรลุเป้าหมายข้างต้นในปี 2030 ตลอดจนกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2050

เพ็ญ โสวิชิตกล่าวกับสำนักข่าวซินหัวของจีนว่าความตกลงฯ และข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีอื่นๆ ไม่เพียงส่งเสริมการเติบโตทางการค้าที่ยั่งยืนของกัมพูชา แต่ยังเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากขึ้นด้วย

อนึ่ง ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ประกอบด้วยประเทศสมาชิกในเอเชียแปซิฟิก 15 แห่ง ซึ่งรวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียน 10 แห่ง ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และคู่ค้าจาก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง