อี-พาสปอร์ตเฟส 3 อัดแน่นมาตรฐานความปลอดภัย พร้อมให้บริการประชาชนทั่วไทย
กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานในการเปิดสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปทุมวัน ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ขณะที่ในอีกไม่กี่วันต่อมา นายชัยสิริ อนะมาน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้เป็นประธานเปิดสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว บางใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต ซึ่งทั้ง 2 แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวใหม่ที่กรมการกงสุลจะเปิดเพิ่มเติมในปีนี้ทั่วประเทศอีก 7 แห่ง นับจนถึงปัจจุบันได้เปิดดำเนินการไปแล้ว 4 แห่งคือสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวบุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช ปทุมวัน และบางใหญ่ ส่วนอีก 3 แห่ง ได้แก่ สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวธัญบุรี เพชรบุรี และหนองคาย จะเปิดให้บริการในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า
กระทรวงการต่างประเทศได้เริ่มให้บริการหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่ หรืออี-พาสปอร์ตระยะที่ 3 มาตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม หลังจากกิจการค้าร่วม DGM เป็นผู้ชนะประกวดราคาเมื่อปีที่ผ่านมา โดยมีคุณลักษณะด้านความปลอดภัยและเก็บข้อมูลชีวมาตรเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งจะทำให้หนังสือเดินทางไทยยากต่อการปลอมแปลง อาทิ การสร้างภาพเสมือนจริงของผู้ถือหนังสือเดินทางบนหน้าข้อมูลถึง 3 จุด มีการพิมพ์ลายนูนบนหน้าข้อมูลเป็นลายประจำยาม เลขที่หนังสือเดินทางและลายมือชื่อของผู้ถือหนังสือเดินทางจะสลักด้วยเลเซอร์ผิวสัมผัสนูน และยังมีโฮโลแกรมชนิดที่ใช้ในหนังสือเดินทาง เป็นต้น
นายดอนกล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปทุมวันว่า การเปิดศูนย์ในวันนี้เป็นการนำการบริการของกระทรวงเข้ามาใกล้กับศูนย์กลางของเมืองหลวง ขณะที่เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ก็เป็นแหล่งช็อปปิ้งที่ถือเป็นความภาคภูมิใจเพราะนักท่องเที่ยวต้องมาเมื่อมาถึงไทย การเปิดศูนย์แห่งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และจะให้บริการประชาชนในหลายเรื่อง โดยนอกจากการออกหนังสือเดินทางแล้ว ในอนาคตยังจะให้บริการด้านเอกสารและนิติกรอีกด้วย อย่างไรก็ดีแม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้มีผู้มาทำหนังสือเดินทางลดน้อยลง แต่เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติก็จะมีประชาชนมาใช้บริการทำหนังสือเดินทางมากขึ้นเป็นหลายพันคนต่อวัน การเดินหน้าเปิดสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวทั่วประเทศเพิ่มเติมของกรมการกงสุลก็จะเป็นไปตามกรอบเวลาที่มีมาแต่เดิมจนครบทั้ง 25 แห่งในปีนี้
นายดอนกล่าวว่า หนังสือเดินทางถือเป็นเอกสารสำคัญเทียบเท่ากับบัตรประชาชนที่เราสามารถนำไปใช้ได้ทั่วโลก โดยอี-พาสปอร์ตระยะที่ 3 นี้มีการเปลี่ยนโฉมให้ดีขึ้นและปลอมแปลงยาก เป็นที่น่าภาคภูมิใจของผู้ถือหนังสือเดินทางไทย แต่จะให้ภาคภูมิใจได้ถึงที่สุด หนังสือเดินทางไทยต้องมีอำนาจในตัวเองคือได้รับการยอมรับในการเดินทางเข้าประเทศต่างๆ โดยไม่ต้องมีวีซ่า ซึ่งการพาตัวเราให้เข้าไปอยู่ในจุดนั้นได้ไม่ได้อยู่ที่ตัวเอกสาร แต่ที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวผู้ถือหนังสือเดินทางว่าจะทำให้หนังสือเดินทางไทยไปอยู่ในจุดที่เราคาดหวังได้หรือไม่
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวด้วยว่า ในส่วนของสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศก็จะมีการเพิ่มคุณค่าของงานที่ทำนอกเหนือจากงานกงสุลแล้วยังรวมถึงงานด้านสารัตถะตามภารกิจของจังหวัดต่างๆ และยังเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ให้จังหวัดต่างๆ มีความพร้อมในด้านการต่างประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ยังจะสามารถไปบรรยายให้กับสถานศึกษาได้เข้าใจงานด้านต่างประเทศ ให้เด็กและเยาวชนได้รับรู้วาระแห่งโลก อาทิ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดต่อไป
นายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ยกระดับการบริการหนังสือเดินทางในโครงการอี-พาสปอร์ตระยะที่ 3 ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ การลดระยะเวลาที่ใช้ในการผลิตเล่มหนังสือเดินทางจาก 2 วัน เป็น 1 วัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับเล่มหนังสือเดินทางเร็วขึ้น มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคลโดยการเก็บภาพม่านตาควบคู่กับภาพใบหน้าและลายนิ้วมือ ทำให้การปลอมแปลงหรือสวมตัวทำได้ยากขึ้น และแม้จะมีการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น กระทรวงก็ไม่ได้ละเลยเรื่องความปลอดภัย โดยให้ความสำคัญกับการเก็บรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรฐานสากล ISO27001 จึงขอให้มั่นใจว่าข้อมูลของประชาชนไทยได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดตามมาตรฐานที่ทั่วโลกให้การยอมรับ
อี-พาสปอร์ตระยะที่ 3 ยังมีการเพิ่มจุดรับคำร้องหนังสือเดินทางในสำนักงานทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสะดวกขึ้น และสิ่งที่กระทรวงมีความภูมิใจคือ การบริการติดแผ่นใสพิมพ์อักษรเบรลล์ในหนังสือเดินทางแก่ผู้สูญเสียการมองเห็น เพื้อให้คนไทยทุกคนและทุกกลุ่มเข้าถึงบริการและได้รับความสะดวกมากที่สุด ซึ่งได้มีการให้บริการกับผู้สูญเสียทางมองเห็นรายแรกไปแล้วในวันที่ 8 กรกฎาคม คือ นายเพชรัตน์ เตชวัชรา ที่มาทำหนังสือเดินทางที่สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปทุมวัน โดยได้มีการนำเล่มไปมอบให้กับนายเพชรัตน์แล้วที่มูลนิธิส่งเสริมอาชีพคนตาบอด
กระทรวงยังเพิ่มทางเลือกในการชำระค่าธรรมเนียมด้วย QR code บัตรเครดิต และเดบิตให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในปัจจุบัน อีกทั้งมีแผนจะติดตั้งเครื่องรับคำร้องหนังสือเดินทางด้วยตนเองเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในช่วงหลังเวลาราชการ ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มติดตั้งเครื่องดังกล่าวได้ภายในปลายปีนี้
สำหรับรูปแบบหนังสือเดินทางรุ่นใหม่มีการพลิกโฉม ทั้งในแง่ของคุณลักษณะด้านความปลอดภัยของหนังสือเดินทาง และความสวยงามด้วยอัตลักษณ์ของประเทศไทย โดยมีการพิมพ์ภาพสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี จนถึงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในการออกแบบรูปเล่มนี้ กระทรวงได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากรและธนาคารแห่งประเทศไทย
ส่วนประเด็นการขยายอายุหนังสือเดินทางจาก 5 ปี เป็น 10 ปี สำหรับผู้บรรลุนิติภาวะที่มีคนรอคอยเป็นจำนวนมากนั้น ขณะนี้กระทรวงอยู่ระหว่างการแก้ไขระเบียบให้รองรับ และคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมหรือกันยายนนี้
อธิบดีกรมการกงสุลกล่าวว่า นับตั้งแต่เปิดให้บริการหนังสือเดินทางรุ่นใหม่ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคมเป็นต้นมา ในภาพรวมการให้บริการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และประชาชนให้ความสนใจและเดินทางมายื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางอย่างต่อเนื่องทุกสำนักงาน แม้ว่าช่วงนี้ยังมีข้อจำกัดด้านการเดินทางระหว่างประเทศก็ตาม คาดว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง และการเดินทางระหว่างประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ความต้องการในการทำหนังสือเดินทางจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงและกิจการค้าร่วม DGM ก็พร้อมที่จะให้บริการและผลิตหนังสือเดินทางอย่างเต็มศักยภาพต่อไป