รีเซต

ดาหลา ความงามที่กินได้ ไม้ดอกที่ควรค่าอนุรักษ์ก่อนสูญ

ดาหลา ความงามที่กินได้ ไม้ดอกที่ควรค่าอนุรักษ์ก่อนสูญ
เทคโนโลยีชาวบ้าน
31 สิงหาคม 2564 ( 12:18 )
283

ดาหลา เป็นไม้ดอกท้องถิ่นทางภาคใต้ชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกอยู่มากในเขตจังหวัดยะลา นราธิวาส เป็นระยะเวลานาน ในอดีตดาหลามีการนำหน่ออ่อนและดอกมาใช้เป็นผักประกอบอาหาร เหมือนผักทั่วไป 

 

ภายในแปลงปลูกแบบไม่ยกร่อง

 

การนำไปใช้เป็นผักประกอบอาหารบางประเภทเพื่อบริโภคในพื้นที่ ในขณะที่ไม่ได้มีการส่งเสริมให้ปลูก ส่งผลทำให้ปริมาณต้นดาหลาในพื้นที่ภาคใต้เริ่มลดน้อยลงทุกปี บางสายพันธุ์ที่มีปลูกอยู่ในพื้นที่ถึงกับเกือบจะสูญพันธุ์ ดังนั้น ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดตรัง (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) จึงได้เก็บรวบรวมพันธุ์มาเพาะเลี้ยงไว้ที่ศูนย์ เพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมพืชที่กำลังจะสูญสิ้นไป

 

ข้อมูลจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดตรัง (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) ระบุว่า ดาหลาเป็นไม้ดอกที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งการนำไปประกอบอาหารและปลูกเป็นไม้ตัดดอก เนื่องจากเป็นไม้ที่ให้ดอกดกในฤดูร้อน ประกอบกับดอกที่มีขนาดใหญ่ สีสดใส รูปทรงแปลกตา ทำให้เป็นที่สนใจของผู้พบเห็นและเป็นที่ต้องการของตลาด

 

ดาหลาพันธุ์ดอกสีชมพูอ่อน (โอโรล์ด)

 

สายพันธุ์ดาหลาที่มีอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ เริ่มมีแนวโน้มและปริมาณลดลง บางสายพันธุ์มีปลูกอยู่ไม่กี่จังหวัด ทางศูนย์จึงเข้าร่วม “โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” เพื่อเก็บรวบรวมพันธุ์ดาหลาในพื้นที่เขตพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ตลอดจนต้องการให้ประชาชนมีความตระหนักและรับทราบถึงปัญหาและระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการที่ทรัพยากรต่างๆ กำลังจะสูญไป ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

 

ลักษณะและจุดเด่นของดาหลาให้ฟังอีกว่า ดาหลาเป็นพืชล้มลุกประเภทใบเลี้ยงเดี่ยว มีดอกที่สวยงาม จัดเป็นพืชที่มีอยู่ในวงศ์เดียวกับขิงและข่า มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่าเหง้า ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดของหน่อดอกและหน่อใหม่ ส่วนลำต้นจะอยู่เหนือผิวดินขึ้นมามีสีเขียวเข้ม ลักษณะเป็นกาบใบที่โอบซ้อนกันแน่น มีความสูงประมาณ 2-3 เมตร โดยรวมแล้ว ดาหลา 1 ต้น สามารถให้หน่อใหม่ได้ประมาณ 7 หน่อ ในเวลา 1 ปี

 

เมล็ดดอกดาหลา

 

ใบ มีรูปร่างยาวรี กลางใบกว้างแล้วค่อยๆ เรียวไปหาปลายใบและฐานใบ ผิวเกลี้ยงทั้งด้านบนและด้านล่าง มีความยาวใบประมาณ 30-80 เซนติเมตร ส่วนดอก จะมีลักษณะเป็นดอกช่อ ประกอบด้วยกลีบประดับเรียงซ้อนกัน จะบานออกประมาณ 25-30 กลีบ

 

ลักษณะเด่นของดาหลาอีกหนึ่งประการคือ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีแสงรำไรหรือที่ร่ม ไม้ยืนต้น สามารถเก็บดอกได้ตลอดทั้งปี แต่จะให้ดอกดกในช่วงฤดูร้อน (มีนาคม-พฤษภาคม) ในขณะที่ไม้ดอกชนิดอื่นๆ ไม่มีดอกให้เก็บ

 

ปัจจัยในการปลูกดอกดาหลาที่ผู้ปลูกต้องคำนึงคือ แสงและฤดูกาล แปลงปลูกควรให้แสงส่องผ่านประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ หากโดนแสงแดดมากเกินไป สีของกลีบประดับจะจางและทำให้ใบไหม้ นอกจากนี้ ฤดูปลูกที่เหมาะสมควรเป็นฤดูฝนช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ดาหลาจะมีการเจริญเติบโตทางด้านลำต้นและแตกหน่อได้มาก

 

ดาหลาพันธุ์ดอกสีแดง

 

ปัจจุบัน ศูนย์เก็บรวบรวมพันธุ์ดาหลาไว้ในพื้นที่ศูนย์ทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ดอกสีชมพู สีแดง สีขาว และสีชมพูอ่อน (โอโรล์ด) โดยมีวิธีการเพาะขยายพันธุ์ 4 วิธี ดังนี้

 

  1. การแยกหน่อ คือ เป็นวิธีการแยกหน่อที่มีความเหมาะสม กล่าวคือ ต้องมีความสูงประมาณ 60-100 เซนติเมตรขึ้นไป มีกิ่งอ่อนกึ่งแก่ประมาณ 4-5 ใบ มีหน่อดอกอ่อนๆ ประมาณ 3 หน่อ นำไปปลูกลงถุงพลาสติก ประมาณ 1 เดือน เพื่อให้หน่อแข็งแรงก่อนนำลงไปปลูกในแปลง
  2. การแยกเหง้า คือ เป็นการแยกเหง้าที่เกิดใหม่ที่โคนต้น ไปปลูกในแปลงเพาะชำ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ต้นจึงจะเริ่มให้ดอก
  3. การปักชำหน่อแก่ กล่าวคือ การนำหน่อแก่ไปชำในแปลงเพาะชำเพื่อให้แตกหน่อใหม่ที่มีความสมบูรณ์แข็งแรง จากนั้นจึงค่อยแยกหน่อใหม่ย้ายลงไปปลูกในแปลง
  4. การเพาะเมล็ด คือ การนำเมล็ดแก่ที่ได้จากต้นแม่ไปเพาะในกระบะปลูก จนได้ต้นกล้าและย้ายลงปลูกในถุงพลาสติก พอต้นแข็งแรงถึงจะสามารถนำลงแปลงปลูกได้ แต่อย่างไรก็ตาม การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ค่อนข้างจะช้ากว่าวิธีอื่นๆ แต่จะได้ผลดีคือ มีอัตราการได้ต้นดาหลาสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นจากหลายพันธุ์ของต้นพ่อและแม่

 

สำหรับแปลงปลูกดาหลา โดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ความยาวตามขนาดของพื้นที่

 

ดาหลาพันธุ์ดอกสีขาว

 

ดาหลาพันธุ์ดอกชมพู

 

แปลงปลูกดาหลาจะมีสองแบบคือ การปลูกแบบยกร่องสวน และไม่ยกร่องสวน ซึ่งทั้งสองวิธีจะทำการไถพรวนตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน จากนั้นขุดหลุมปลูกระยะห่างระหว่างต้นและแถวประมาณ 2 เมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี สูตร 20-20-20 ในอัตรส่วน 1 ต่อ 25 จากนั้นนำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ด้วยวิธีการขยายพันธุ์ที่กล่าวมาทั้ง 4 วิธีข้างต้น ลงปลูก กลบดิน และรดน้ำให้ชุ่ม แต่ถ้าหากปลูกในเชิงพาณิชย์ แนะนำว่าควรขุดยกร่องสวนให้มีคูน้ำลึกประมาณ 1 เมตร กว้าง 1 เมตร ขั้นระหว่างแปลงปลูก เพื่อให้มีความชุ่มชื้นภายในแปลงอยู่ตลอดเวลา

 

หลังจากปลูกดาหลาลงแปลงปลูก เรื่องการปฏิบัติดูแลรักษา สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ การให้ปุ๋ย จะต้องให้ประมาณ 2-3 เดือนต่อครั้ง โดยจะใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 ในอัตรา 96 กิโลกรัมต่อไร่ ปุ๋ยคอก 15 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี นอกจากนี้ อาจใช้อินทรียวัตถุที่ผุพัง เช่น ใบไม้ต่างๆ ลำต้นแก่ของดาหลา วัชพืชที่ขึ้นตามท้องร่องมาหมักเป็นปุ๋ย หรืออาจใช้ดินเลนจากท้องร่องพูนใส่ตามโคนต้นในกรณีปลูกแบบยกร่อง

 

การให้น้ำ ในระยะเริ่มแรกของการปลูก ต้องรดน้ำให้ชุ่ม วันละ 1 ครั้ง แต่เมื่อต้นดาหลาเริ่มตั้งตัวได้อาจเว้นระยะห่างของการให้น้ำจากวันละครั้งออกไปเป็นประมาณ 2-3 วันต่อครั้ง แต่อย่างไรต้องคำนึงถึงสภาพอากาศ ถ้าเป็นช่วงฤดูร้อน ควรเพิ่มการให้น้ำมากขึ้น โดยใช้ระบบการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์บนแปลงที่ไม่ยกร่อง

 

แปลงรวบรวมพันธุ์ดาหลา

 

ดาหลาเป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว เพราะฉะนั้น ในช่วงแรกจะต้องกำจัดวัชพืชบ่อยๆ แต่เมื่อดาหลาโตกอแน่นใบบังแสงซึ่งกันและกัน แสงไม่สามารถส่องผ่านมากระทบพื้นดิน ทำให้วัชพืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้ ระยะหลังจึงไม่ต้องทำความสะอาดเก็บวัชพืชบ่อยมากนัก ส่วนโรคและแมลงยังพบโรคที่เป็นปัญหาสำคัญกับดาหลา

 

สำหรับการเก็บเกี่ยวดอกดาหลา จะนิยมตัดในช่วงเช้า จะเลือกดอกที่มีความสมบูรณ์ พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งจะมีอายุประมาณ 2 อาทิตย์ นับตั้งแต่เริ่มแทงหน่อดอก โดยการตัดก้านดอกดาหลาจะต้องตัดให้ชิดโคนแล้วนำไปแช่ในน้ำสะอาด ห่อดอกด้วยถุงพลาสติกเพื่อป้องกันไม่ให้กลีบดอกห้อยและช้ำ ยืดอายุการใช้งานได้นาน 3-7 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมโดยรอบ

 

หน่อที่พร้อมจะทำการแยก

 

ดาหลายังเป็นเพียงไม้ดอกที่ไม่ได้รับนิยมปลูกในเชิงพาณิชย์มากเท่าที่ควรในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากตลาดในปัจจุบันยังเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรผู้ปลูก หลายคนยังขาดข้อมูลเรื่องความต้องการของตลาด ส่งผลทำให้ขาดความมั่นใจในการลงทุน การนำไปใช้ประโยชน์ จึงทำได้เพียงตัดดอกจำหน่ายและใช้ประกอบอาหารภายในพื้นที่เท่านั้น

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดตรัง (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) โทรศัพท์ 075-582-3123 (วันเวลาราชการเท่านั้น)

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง