ชาวบ้านเดือดร้อนหนักกราบวิงวอน ผวจ.ระนองขอผ่อนปรนเข้า-ออก จังหวัด
ระนอง-ชาวบ้านช่วงรอยต่อ จ.ชุมพร และ จ.ระนอง เดือดร้อนหนัก ไม่สามารถข้ามจังหวัดเข้าสวนตัวเองได้ รวมตัวกันเรียกร้องให้มีการผ่อนปรนมาตรการการข้ามเขตจังหวัดระนอง-ชุมพร
นายเจษฏา จำเริญนุสิทธิ์ กำนัน ต.เขาค่าย พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน ใน ต.เขาค่าย และชาวบ้านกว่า 300 คน เดินทางไปยัง ด่านคัดกรองโควิด-19 บนถนนสายเขาค่ายไปยัง อ.ละอุ่น จ.ระนอง หมู่ที่ 2 ต.ในวงศ์เหนือ อ.ละอุ่น จ.ระนอง รอยต่อระหว่าง จ.ชุมพร และ จ.ระนอง เพื่อเรียกร้องให้ผ่อนปรนมาตรการห้ามเข้าเขต จ.ระนอง
เมื่อไปถึงรอยต่อระหว่าง จ.ระนอง และ จ.ชุมพร ท้องที่หมู่ที่ 2 ต.ในวงเหนือ อ.ละอุ่น จ.ระนอง ชาวบ้านได้รวมกลุ่ม เว้นระยะห่างกันระยะ 1-2 เมตรและสวมหน้ากากอนามัย หน้าด่านคัดกรองในเขต จ.ชุมพร เป็นแถวยาวกลางถนน พ.ต.อ.โกสิต กาญจนโกมล ผกก.สภ.นาสัก อ.สวี จ.ชุมพร และตำรวจจาก สภ.ละอุ่น จ.ระนอง นำกำลังมาดูแลความสงบเรียบร้อย
ชาวบ้านถือป้ายเรียกร้องให้ทางราชการจังหวัดระนองผ่อนปรนการข้ามแดนเพื่อเข้าไปดูแลสวนเกษตร ทั้งสวนปาล์มและสวนทุเรียนหลายพันไร่ นายชัยกฤต หมวดจันทร์ ปลัดอาวุโส อ.ละอุ่น จ.ระนอง พร้อม จนท เดินทางมาพบกลุ่มผู้ชุมนุม นายเจษฏา กำนัน ต.เขาค่าย ได้อ่านหนังสือความต้องการของชาวบ้าน ใน ต.เขาค่าย อ.สวี จ.ชุมพร ใจความว่า
ในขณะนี้ พืชเกษตรที่สำคัญทางเศรษฐกิจคือ ทุเรียนหมอนทองกำลังออกผลและ ต้องดูแลเต็มที่ ทั้งใส่ปุ๋ย ระวังโรคพืชหลายชนิด ระวังแมลงหนอนเจาะผลทุเรียน หรือ เข้าไปปรับแต่งต้นทุเรียน ให้เหมาะสมกับสภาพของลูกทุเรียนที่กำลังเติบโต ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญสุด ถ้าดูแลช่วงนี้ไม่ได้สวนทุเรียนนับพันไร่ ของ ชาวสวนทุเรียน ในพื้น ต.เขาค่าย อ.สวี จ.ชุมพร จะเสียหายทั้งหมด
ชาวสวนทุเรียนรายหนึ่งจะมีสวนทุเรียน ประมาณ 30 ไร่ ถึง 50 ไร่ หลายร้อยราย จะขายทุเรียนได้ รายละ 2-3 ล้านบาท จะความเสียหายมากกว่า300 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงที่ทุเรียนหมอนทองเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลออกสู่ตลาด ในขณะนี้มีพ่อค้าจากประเทศจีนเริ่มเข้ามารับซื้อในราคาที่สูงมากกว่าปกติ ถึง กก.ละ 200 -250บาท อีกทั้งชาวสวนทุเรียนได้ลงทุนใส่ปุ๋ย ขุดสระ ปรับปรุงสวนทุเรียนก่อนหน้าเหตุการณ์โควิด19 ต้องกู้ยืมเงินมานับล้านบาท กับสถาบันการเงินบ้าง กับ นายทุนบ้าง ถ้าไม่สามารถขายทุเรียนหมอนทองได้ คาดว่าจะมีผู้ล้มละลาย เสียหายนับร้อยครอบครัวแน่นอน
โดยชาวสวนขอเพียงได้เข้าไป ทำสวน วันละ 5-6ชม เท่านั้น จะไม่ออกนอกพื้นที่สวน ไปเช้าเย็นกลับ และปฏิบัติตามระเบียบที่ จ.ระนองระบุไว้ อีกทั้ง ในพื้นที่ ต.เขาค่าย อ.สวี จ.ชุมพร ไม่ปรากฏว่า มีใครรับเชื้อโควิด หรือ เป็นผู้ต้องสงสัยว่าสัมผัสโรค แต่อย่างใด เพราะตำบลเขาค่ายก็มีการคัดกรองผู้ที่จะเดินเข้าสู่ตำบลเขาค่ายเหมือนกัน
แต่การที่ จ.ระนองจะให้ชาวสวนทุเรียนไปขอใบรับรองแพทย์ว่าไม่เป็นโควิด ซึ่งต้องเดินทางไปยัง รพ.เอกชน ที่ อ.เมือง จ.ชุมพร มีค่าใช้จ่ายหลายพันต่อครั้ง และ ใบรับรองแพทย์ใช้ได้พียง 3 วัน เพียงเดินทางไปหาหมอก็ 1 วัน ใช้ใบรับรองแพทย์ ได้อีก 2 วันก็ หมดอายุใบรับรองแพทย์ ต้องไปขอใหม่อีก
นายชัยกฤต หมวดจันทร์ ปลัดอาวุโส อ.ละอุ่น จ.ระนอง พร้อม จนท.รับมอบหนังสือ และรับฟังข้อเสนอของกลุ่มชาวบ้าน เพื่อนำไปรายงาน ผวจ.ระนอง ต่อไป ในขณะที่ชาวบ้านหลายสิบคนใน จ.ระนองก็เกิดปัญหาที่จะเดินทางกลับมาหาครอบครัว ในตำบลเขาค่าย อ.สวี จ.ชุมพร พากันมารวมตัว ในเขต อ.ละอุ่น จ.ระนอง หน้าด่านคัดกรองเช่นเดียว ซึ่งทุกคนมีสภาพปัญหาเดียวกัน