รีเซต

ไฮสปีดเทรนสามสนามบิน จุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ (ตอน 4)

ไฮสปีดเทรนสามสนามบิน จุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ (ตอน 4)
TNN ช่อง16
11 มีนาคม 2564 ( 14:00 )
549

การพัฒนาประเทศภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ หนึ่งในภารกิจสำคัญ คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก บนพื้นที่เป้าหมายที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ นั่นคือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC 

ก้าวสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ EEC

โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ถูกหยิบยกมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานแรกในพื้นที่ EEC เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย จะเป็นจุดเริ่มต้นและจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ ให้คนไทยได้เรียนรู้เทคโนโลยีระบบรางความเร็วสูง คนไทยได้รับการพัฒนาให้มีความเชี่ยวชาญที่สูงขึ้น มีศักยภาพสูงเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

จุดเด่นของรถไฟความเร็วสูง คือตรงเวลา ปลอดภัย สิ้นเปลืองพลังงานน้อยเมื่อเทียบกับขนส่งประเภทอื่นๆ กระจายความแออัดของเมืองไปสู่เมืองรอง แต่สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว การดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกมาลงทุนใน EEC ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ในภาคตะวันออกและพื้นที่โดยรอบ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ นำความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้กับคนในพื้นที่

โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินถือเป็น “โครงการพื้นฐานหลัก” ในการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้มีผลเป็นรูปธรรม และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย



Return of Investment & Return of Society

ด้วยเม็ดเงินในการลงทุนถึง 224,544 ล้านบาท ภายใต้สัญญาร่วมทุน 50 ปี โดยทางสำนักงานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC มีการประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงถึง 650,000 ล้านบาท ซึ่งมีรายได้จากค่าเช่าที่ รายได้ค่าให้สิทธิแอร์พอร์ตลิงค์ ส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสาร รายได้จากภาษี นอกจากนี้จะมีการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตรา การจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตราใน 5 ปีข้างหน้า



รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ยังเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ดีขึ้น จากอาชีพใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม  ซึ่งจากการพัฒนาโครงการฯยังส่งผลต่อการเกิดการสร้างงาน และความเจริญตามมาให้กับในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการจ้างงานในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เช่น วิศวกรระบบราง  งานออกแบบตกแต่งภายใน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยภายในโครงการ  เป็นต้น  ขณะเดียวเมื่อโครงการแล้วเสร็จ ยังทำให้อุตสาหกรรมอื่นๆได้อานิสงส์ตามมาเกิดเป็นธุรกิจ การจ้างงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจคมนาคมขนส่งสินค้า อาทิ ผู้ให้บริการขนส่งสินค้า พนักงานควบคุมการขนส่งสินค้า ฯ  รวมไปถึงธุรกิจที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตและการพัฒนาเมืองตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แรงงานในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงธุรกิจบริการเพื่อรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยว ทั้งในกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่พัก บริษัททัวร์ ต่างๆ  ตลอดจนเกิดการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีระบบราง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต เช่นหลักสูตร วิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมระบบอาณัติสัญญาน เป็นต้น  

นอกจากนี้ ยังเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบรางของประเทศ ด้วยความร่วมมือจากบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่ได้ร่วมพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินอีกด้วย

ในอนาคตอันใกล้จะเกิดเมืองใหม่ตามนโยบายของ EEC โดยสถานีรถไฟความเร็วสูงจะกลายเป็นศูนย์กลางของระบบการขนส่งของเมืองนั้นๆ ที่จะสนับสนุนและเชื่อมเมืองให้สอดรับกับการพัฒนา ประเมินกันว่า ภายใน 10 ปี โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จะเชื่อมโยงและเพิ่มศักยภาพให้  ฉะเชิงเทรา ศรีราชา พัทยา ระยอง เป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ และปริมณฑล  โดยจะเกิดกระบวนการพัฒนาไปสู่การเป็น เมืองแห่งอนาคต หรือ Smart City เช่น ฉะเชิงเทราจะเป็นเมืองพักอาศัยชั้นดีที่รองรับนักท่องเที่ยวจาก กรุงเทพ และพื้นที่ EEC ศรีราชาเมืองหลวงอุตสาหกรรมสมัยใหม่ พัทยาศูนย์กลางการประชุมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจากสนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น


สรุป

ต้องยอมรับการพัฒนาประเทศ สำคัญที่สุดคือการชิงความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะในมิติเศรษฐกิจที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศ เนื่องจากโดยไทยวางยุทธศาสตร์ให้โครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อเชื่อมโยงตลาดการค้า ระหว่างกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง กายภาพภูมิประเทศของไทยถือเป็นศูนย์กลางของอินโดจีน 

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นจิ๊กซอตัวหนึ่งของยุทธศาสตร์ข้างต้น ดังนั้นจึงถือเป็นก้าวสำคัญของพื้นที่ อีอีซี ที่ช่วยยกระดับประเทศไทย ค่อยๆ ขยับเข้าสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้ไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง