ชุมชนคลองเตย ติดเชื้อ 304 ราย เสี่ยงสูงนับพัน ชุมชนบ่อนไก่นับร้อย
ระดมตรวจปูพรมเพิ่ม ตั้งจุดพักคอยวัดสะพานรับดูแลคนิตดเชื้ออาการสีเขียว ระหว่างรอเตียง ไม่ให้กลับบ้าน เสี่ยงติดเชื้อในครอบครัว ด้านชุมชนบ่อนไก่เจอติดเชื้อเพิ่ม 60 ราย รวม 146 ราย
วันที่ 3 พ.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) กล่าวถึงกรณีการติดเชื้อในชุมชนคลองเตย ว่า สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) นำเสนอที่ประชุมถึงการค้นหาเชิงรุกในชุมชนคลองเตย โดยจะมุ่งเป้าไปที่ 39 ชุมชน ทั้งชุมชนเมือง ชุมชนแออัด และชุมชนที่อยู่ในเคหะ ซึ่งปัจจุบันมีรายงานผู้ติดเชื้อ 304 ราย จำนวนนี้ 193 ราย อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างหนาแน่นในพื้นที่ชุมชนแออัด ทำให้ต้องเฝ้าระวังการแพร่เชื้อในชุมชนเพิ่ม อย่างไรก็ตาม นำผู้ติดเชื้อทั้งหมดเข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว 100%
โดยพบว่ามี 3 ชุมชนที่มีการติดเชื้อหนาแน่น คือ ชุมชนพัฒนาใหม่ ชุมชน 70 ไร่ และชุมชนริมคลองวัดสะพาน จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ 3 ชุมชนนี้ ในวันที่ 27 เม.ย. และ 30 เม.ย. พบว่า ชุมชน 70 ไร่ ตรวจ 436 ราย พบติดเชื้อ 21 ราย ชุมชนริมคลองวัดสะพาน ตรวจ 489 ราย พบติดเชื้อ 29 ราย และชุมชนพัฒนาใหม่ ตรวจ 411 ราย พบเชื้อ 49 ราย
"นอกจากนี้ เมื่อบุคลากรควบคุมโรคสอบไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อ จะได้ประวัติว่าคนกลุ่มนี้พักที่ไหนทำงานที่ไหน ก็ติดตามสอบสวนไปยังกลุ่มชุมชนเป้าหมาย ซึ่งแกนนำทั้ง 3 ชุมชนร่วมมือช่วยชี้เป้าติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งตอนนี้มีผู้มีความเสี่ยงสูงเกือบพันราย ก็มีแผนที่จะระดมตรวจกลุ่มเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำ และขอความสนับสนุน ศบค.ทั้งทรัพยากร บุคลากรช่วยลงตรวจ" พญ.อภิสมัยกล่าว
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า บ่ายนี้จะหารือเรื่องการปูพรมตรวจในชุมชนด้วย และการจัดการเมื่อตรวจพบผู้ป่วยจะคัดแยกระดับอาการรุนแรง เขียวเหลืองแดง และจัดตั้งศูนย์รับเรื่้อง คือ จุดพักคอยวัดสะพาน สำหรับผู้มีอาการระดับสีเขียว ไม่มีโรคประจำตัว เพราะเมื่อพบผู้ติดเชื้อผลยืนยันแล้วการกลับบ้านอาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อในครอบครัว
ส่วนคนมีโรคประจำตัวมีอาการทางเดินหายใจ ศูนย์เอราวัณจะหาเตียงให้เร็วที่สุด แต่หากคนเสี่ยงสูงจำเป็นต้องกักตัวที่บ้าน ก็มีนักสังคมสงเคราะห์ ผู้นำชุมชน องค์กรภาครัฐและเอกชนที่ช่วยกันลงพื้นที่ จัดเตรียมอาหาร สาธารณูปโภคที่จำเป็น เพื่อให้กักตัวเองในบ้าน ลดการเดินทาง ดำเนินชีวิตขณะแยกกักอย่างปลอดภัยก่อนได้รับการจัดสรรไปอยู่ในสถานที่ดูแลที่เหมาะสม และกรมควบคุมโรคหารือว่าจะมีการจัดสรรวัคซีนระดมฉีดกลุ่มเป้าหมายที่มีการติดเชื้อสูงด้วย
"ประชาชนและชุมชนใกล้เคียงต้องติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด จะมีการลงตรวจปูพรมอย่างไรที่ไหนหากอยู่ในพื้นที่ขอให้ไปตรวจ หากเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของอพาร์ตเมนต์ในตลาดหรือชุมชน ขอให้สอบถามคัดกรองบุคคลในความดูแลด้วย ถ้ามีลูกจ้างหรือพนักงานเราอาศัยในพื้นที่ชุมชน หรือการเคหะที่มีความเสี่ยง สามรถสอบถามการสัมผัสผู้อื่นผู้ติดเชื้อยืนยัน ให้ผู้มีประวัติเสี่ยงสามารถจัดการแยกจากผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยให้ชัดเจน และเน้นย้ำมาตรการป้องกันตนเอง การสวมหน้ากากจะช่วยลดความเสี่ยง" พญ.อภิสมัยกล่าว
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ศบค.พูดถึงชุมชนบ่อนไก่ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน พบป่วยยืนยัน 60 ราย ศูนย์บริการสาธารณสุข มีการจัดการใกล้เคียงชุมชนคลองเตย มีรถพระราชทานลงพื้นที่ ให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์คนกลุ่มเสี่ยงให้แยกกักที่บ้าน ขอให้ดูรายละเอียดเรื่องการสุ่มตรวจ จะตรวจให้ได้ 4 พันราย ขอคนในพื้นที่ติดตามรายละเอียด ผู้นำชุมชน สถานประกอบการติดตามข่าวและดูแลบุคลากรในความดูแลด้วย
พญงอภิสมัยกล่าวว่า ส่วนการรอเตียง เราพยายามลดวัน ตัวเลขที่รับรายงานจากศูนย์แรกรับและส่งต่อนิมิบุตร วันที่ 2 พ.ค. สามารถส่งผู้ป่วยสำเร็จ หาเตียงได้ 186 ราย คิดเป็น 96.9% เพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยตกค้างรอเตียงที่บ้านนาน อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอที่บ้าน การซื้อยาฆ่าไวรัสฆ่าเชื้อมากินเอง ขอชี้แจงว่า ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว มียารักษาโรคที่รับประทานอยู่ การซื้อยาอะไรมารับประทานอาจเป็นความเสี่ยงทำให้โรคนั้นแย่ลง หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาอาจเกิดอันตรายรุนแรง
ส่วนอาหารเสริมหรือสมุนไพรที่มีการแร์กัน อยากให้บริโภคข่าวอย่าเพิ่งปฏิบัติตามโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อย่างเบาหวานรับประทานน้ำผึ้งอาจทำให้อาการเบาหวานแย่ลง หรือฟ้าทะลายโจร อธิบดีกรมกรแพทย์แผนไทยฯ พูดชัดเจนการรับประทานควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วย การซื้อยาฆ่าเชื้อยาต่างๆ มารับประทานเองที่บ้าน ต้องทำด้วยควาระมัดระวังโดยเฉพาะมีโรคประจำตัวอื่นหรือรับประทานยาประจำตัวอื่นอาจมีอันตรายได้