รีเซต

ฟังเสียง "ชาวโซเชียล" คิดเห็นอย่างไรกับ “ลอยกระทง 2566” อยากให้มี หรือยกเลิก?

ฟังเสียง "ชาวโซเชียล" คิดเห็นอย่างไรกับ “ลอยกระทง 2566” อยากให้มี หรือยกเลิก?
TNN ช่อง16
24 พฤศจิกายน 2566 ( 11:24 )
33
ฟังเสียง "ชาวโซเชียล" คิดเห็นอย่างไรกับ “ลอยกระทง 2566” อยากให้มี หรือยกเลิก?



วนกลับมาอีกครั้งเป็นประจำทุกปีกับเทศกาลลอยกระทงซึ่งเป็นประเพณีของคนไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน โดยมีความเชื่อว่าการประดิษฐ์กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติลอยลงไปในแม่น้ำ ก็เพื่อเป็นการขอขมาพระแม่คงคา จัดขึ้นทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งภายในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566


ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 7 พฤศจิกายน เพจ Facebook ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ ได้โพสต์ข้อความว่า “ถ้าลดไม่ได้ ก็เลิกลอยในแหล่งน้ำเปิดซะนะ ในแต่ละปี การลอยกระทง ในแหล่งน้ำเปิดที่ไร้การจัดการ ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ทั้งขยะ ตะปูโลหะ เกลื่อนชายหาดและลำคลอง ตกค้างเป็นเดือน ไร้การจัดการที่ดี เรายังคงยืนยัน ให้เลิกลอยกระทงในแหล่งน้ำเปิด ถ้าไม่มีการวางระบบที่ดีพอ เพราะนี่ไม่ใช่การขอขมา แต่เป็นการฆ่า ท้องทะเล แม่น้ำ ลำคลอง” ทำให้สำนักข่าวต่างๆ หยิบประเด็นนี้มานำเสนอ และกลายเป็นกระแสถกเถียงกันบนโลกโซเชียลในที่สุด 

บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้วิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวันลอยกระทงผ่าน เครื่องมือ Social Listening อย่าง ZOCIAL EYE พบว่า มีจำนวนการพูดถึงในช่วงวันที่ 1-23 พฤศจิกายน 2566 มากกว่า 47,000 ข้อความ และมียอดการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น กดไลก์ กดแชร์มากกว่า 13.3 ล้านครั้ง โดยอยู่บนช่องทาง Facebook คิดเป็น 69% ตามมาด้วย X (Twitter) คิดเป็น 12%, Instagram คิดเป็น 9% และช่องทางอื่นๆ 10% เมื่อวิเคราะห์การพูดถึงวันลอยกระทงในปีนี้ พบว่า นอกจากเรื่องการทำกระทงจากวัสดุแปลกใหม่ แต่ไม่สร้างขยะ, สถานที่ลอยกระทง, โปรโมชั่นจากแบรนด์ที่เกาะกระแสวันลอยกระทง, การแต่งชุดไทยไปลอยกระทง ก็มีประเด็นยกเลิกวันลอยกระทงที่ชาวโซเชียลให้ความสนใจอย่างมาก 



ความคิดเห็นถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งที่มองว่าควรยกเลิก และฝั่งที่เห็นว่าควรจัดต่อไป


โดยฝั่งที่มองว่าควรยกเลิก มียอดการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น กดไลก์ กดแชร์มากกว่า 545,000 เอ็นเกจเมนต์ ส่วนเหตุผล 3 ประการที่ชาวโซเชียลไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ คือ

ด้านสิ่งแวดล้อม การลอยกระทงเป็นการเพิ่มขยะให้แหล่งน้ำธรรมชาติ และทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก อีกทั้งยังสร้างภาระให้เจ้าหน้าที่หลังจากการลอยกระทง


ด้านมลพิษทางเสียง เสียงดังของพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ไม่สามารถนอนได้ และทำให้สัตว์เลี้ยงตกใจจนหมดสติ


ด้านความปลอดภัย มีการยิงปืนขึ้นฟ้า นอกจากจะทำให้เกิดเสียงรบกวนแล้ว ชาวโซเชียลมองว่าอาจมีลูกกระสุนตกใส่หลังคาบ้านเรือน ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิต

ชาวโซเชียลยังแนะอีกว่า หากต้องจัดงานลอยกระทงจริงๆ ควรให้ลอยในแหล่งน้ำปิด หรือไม่ก็ลอยกระทงออนไลน์แทน 

อีกฝั่งที่เห็นด้วยว่าควรจัด มียอดการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น กดไลก์ กดแชร์ 5,600 เอ็นเกจเมนต์ กล่าวถึง 3 เหตุผลที่ควรมีการจัดเทศกาลลอยกระทงต่อ ดังนี้ 


ด้านวัฒนธรรม การลอยกระทงเป็นการรักษามรดกทางวัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่ง อีกทั้งยังเป็น Soft Power ที่ช่วยขับเคลื่อนประเพณีไทยสู่สายตาชาวโลก


ด้านเศรษฐกิจ การลอยกระทงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เงินหมุนเวียนในท้องถิ่น ทั้งการท่องเที่ยวและการซื้อขายกระทงจากพ่อค้าแม่ค้า 


ด้านสิ่งแวดล้อม หลายคนมองว่า มีการทิ้งขยะลงแม่น้ำอยู่ทุกวันอยู่แล้ว ลอยกระทงมีเพียงแค่วันเดียว และยังมีหน่วยงานต่างๆ คอยร่วมมือจัดการขยะที่เกิดขึ้น 


มีชาวโซเชียลหลายคนมองว่า หากต้องการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากงานลอยกระทง ควรออกนโยบายที่จัดการเรื่องนี้อย่างเข้มงวด เช่น หากกระทงสร้างขยะ ก็ให้ใช้วัสดุอื่นทดแทน หรือเสียงดังจากพลุ ประทัด ก็ให้เลิกซะ มองว่าประเพณีนี้มีมานาน อาจจะต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน และไม่ก่อให้เกิดผลเสียตามมาในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง