รีเซต

ครั้งเดียวในรอบ6พันปี! ดาวหางนีโอไวส์แซงดวงอาทิตย์ ลุ้นดูด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วไทย(คลิป)

ครั้งเดียวในรอบ6พันปี! ดาวหางนีโอไวส์แซงดวงอาทิตย์ ลุ้นดูด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วไทย(คลิป)
ข่าวสด
19 กรกฎาคม 2563 ( 23:52 )
338

 

ครั้งเดียวในรอบ6พันปี! ดาวหางนีโอไวส์แซงดวงอาทิตย์ ลุ้นดูด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วไทย

วันที่ 19 ก.ค. นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิตย์ ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านดาราศาสตร์ไทย และที่ปรึกษาหอดูดาวภูมิภาคเฉลิมพระเกียรติ ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันนี้ 19 ก.ค. เราสามารถสังเกตการณ์ดาวหางนีโอไวส์ หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) ซึ่งเป็นช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ขณะนี้ดาวหางเริ่มแซงดวงอาทิตย์ขึ้นมา กลายเป็นดาวหางช่วงหัวค่ำ สามารถสังเกตการณ์ด้วยกล้องสองตา ยังไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้อง 2 ตา หรือ กล้องถ่ายรูปที่สามารถเปิดหน้ากล้องได้นาน เมื่อท้องฟ้าเปิดก็สามารถถ่ายภาพติด คาดว่าจะเห็นได้ดีที่สุดวันที่ 23 ก.ค. นี้ที่ดาวหางเข้าใกล้และเส้นโคจรพ้นแสงสนธยาแล้ว แสงสนธยาคือแสงสีส้มๆช่วงอาทิตย์ตกดิน

" วิธีการสังเกต หลังเห็นดวงอาทิตย์ขอบแดงๆให้ใช้กล้อง 2 ตาส่องหาดาวหางทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สูงจากของฟ้า 17 องศา ถึง 20 องศา สำหรับดาวหางหางนีโอไวส์ ตั้งแต่ต้นเดือนก.ค.ผ่านมา ได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์และผู้คนบนโลก เนื่องจากปรากฏสว่างเหนือน่านฟ้าหลายประเทศ ต่างพากันติดตามและบันทึกภาพดาวหางเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก "

นายวรวิทย์ กล่าวต่อว่า ดาวหางนีโอไวส์ เป็นดาวหางคาบยาว จากข้อมูลล่าสุดพบว่าโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 6,767 ปี ค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศไวส์ ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด ในโครงการสำรวจประชากรดาวเคราะห์น้อยและวัตถุใกล้โลก ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2563 เคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ระยะห่าง 43 ล้านกิโลเมตร และจะเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกที่สุด ในวันที่ 23 ก.ค.ที่ระยะห่าง 103 ล้านกิโลเมตร

สำหรับประเทศไทยในช่วงครึ่งแรกของเดือนก.ค. 2563 ดาวหางนีโอไวส์ จะปรากฏในช่วงรุ่งเช้า ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ตำแหน่งใกล้ขอบฟ้ามาก และยังเพิ่งโคจรผ่านจุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด จึงถูกแสงอาทิตย์กลบ สังเกตได้ค่อนข้างยาก แต่หลังวันที่ 19 ก.ค.เป็นต้นไปดาวหางนีโอไวส์จะเปลี่ยนมาปรากฏในช่วงหัวค่ำ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และความสว่างจะลดลงเรื่อยๆ แต่ยังคงสว่างในระดับที่ยังสามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยกล้องสองตา และอาจลุ้นมองเห็นตาเปล่า จึงเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้ยลโฉมและบันทึกภาพความสวยงามของดาวหางดวงนี้โดยชมได้นานกว่า 3 ชั่วโมง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 21 ก.ค. เป็นคืนเดือนมืดไร้แสงจันทร์รบกวน เป็นโอกาสเหมาะที่จะเฝ้าสังเกตการณ์ดาวหางนีโอไวส์ด้วยตาเปล่า ส่วนวันที่ 23 ก.ค.แม้เป็นช่วงที่ดาวหางเข้าใกล้โลกที่สุด แต่จากข้อมูลพบว่าดาวหางจะมีค่าค่าความสว่างลดลง รวมทั้งในคืนดังกล่าวตรงกับคืนดวงจันทร์ขึ้น 2 ค่ำ อาจมีแสงจันทร์รบกวนเล็กน้อย ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝนที่มีเมฆมาก บริเวณใกล้ขอบฟ้ามีเมฆปกคลุมค่อนข้างหนา จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการสังเกตการณ์ดาวหางดังกล่าว และหลังจากนั้นความสว่างจะลดลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง