รีเซต

KTB ชี้ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ 33.89 บ./ดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากปดาห์ก่อนหน้า

KTB ชี้ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ 33.89 บ./ดอลลาร์  “อ่อนค่าลงหนัก” จากปดาห์ก่อนหน้า
ทันหุ้น
10 กุมภาพันธ์ 2568 ( 09:37 )
12

#ทันหุ้น - นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.89 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  33.64 บาทต่อดอลลาร์

 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมเป็นการอ่อนค่าลงหนัก (แกว่งตัวในกรอบ 33.55-33.92 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องชัดเจน หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ 

โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาผสมผสาน โดยยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้นเพียง 1.43 แสนตำแหน่ง น้อยกว่าที่ตลาดคาดพอสมควร ขณะที่อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ลดลงสู่ระดับ 4.0% ดีกว่าคาดเล็กน้อย

 

ส่วนอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) เพิ่มขึ้น +4.1%y/y สูงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ บ้าง ทว่าในช่วงหลังจากนั้น อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้น (1-year Inflation Expectations) ในรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ได้ออกมาสูงถึง 4.3% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งภาพดังกล่าว รวมถึงคำขู่ขึ้นภาษีนำเข้าในลักษณะ Reciprocal Tariffs ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ส่งผลให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และปรับลดโอกาสที่เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ เหลือเพียงราว 40%-50% จากเกือบ 70% ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลให้ ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันราคาทองคำและค่าเงินบาท รวมถึงบรรดาสกุลเงินอื่นๆ โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) ท่ามกลางความกังวลว่าสหรัฐฯ อาจเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากยุโรปด้วยเช่นกัน

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทยังพอได้อานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ ลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ไปได้บ้าง

 

สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตาแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่เก็บภาษีนำเข้า “Reciprocal Tariffs” พร้อมจับตา รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ

 

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนมกราคม โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้เล่นในตลาดรวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างกังวลกับผลกระทบของนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 อย่างนโยบายกีดกันทางการค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้า ในลักษณะ “Reciprocal Tariffs” กับบรรดาประเทศต่างๆ ที่เก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าสหรัฐฯ พร้อมทั้ง รอติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซี่งในสัปดาห์นี้ จะมีกำหนดการเข้าแถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงินของสภาผู้แทนฯ ของประธานเฟด นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ด้วยเช่นกัน

 

▪ ฝั่งยุโรป – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนและเศรษฐกิจอังกฤษ ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2024 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB และ BOE โดยล่าสุด หลังจากที่ทั้ง ECB และ BOE ได้เดินหน้าลดดอกเบี้ยลง 25bps ในการประชุมต้นปีที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า ECB อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยอีก 4 ครั้ง หรือ 100bps (โอกาส 34%) ส่วน BOE ก็อาจลดดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง หรือ 75bps (โอกาส 67%)

 

▪ ฝั่งเอเชีย – ในส่วนของนโยบายการเงินนั้น ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 5.50% เพื่อช่วยหนุนภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอลงในระยะหลัง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อก็ได้ชะลอลงต่อเนื่องและอยู่ในกรอบเป้าหมาย 2%-4% ในช่วงที่ผ่านมา

 

▪ ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค พร้อมกับ รอลุ้นรายงานผลการดำเนินงานของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยได้ หากรายงานผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาสดใส ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยได้ปรับตัวลงมาพอสมควร จนในเชิง Valuation (หากประเมินจาก Forward P/E) ก็อยู่ในระดับที่ถูก Z-score ในรอบ 10 ปี น้อยกว่า -1 สำหรับ แนวโน้มเงินบาท นั้น การอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของเงินบาทในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เพิ่มโอกาสเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงได้ โดยเฉพาะหาก เงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนทะลุโซนแนวต้าน 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน เมื่อประเมินจากกลยุทธ์ Trend-Following ทั้งนี้ โอกาสที่เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แย่กว่าคาด เช่น อัตราเงินเฟ้อ CPI ต่ำกว่าคาด หรือเห็นแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีน พร้อมทั้งควรจับตาทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิด หลังราคาทองคำเริ่มเผชิญความเสี่ยงย่อตัวลงบ้าง

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทเสี่ยงกลับมาอ่อนค่าลง โดยเฉพาะหากอ่อนค่าทะลุโซน 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งต้องจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำ นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) ซึ่งอาจขึ้นกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย อาจพอได้ลุ้นเห็นแรงซื้อหุ้นไทยทยอยกลับมาบ้าง

 

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด หรือ รัฐบาลสหรัฐฯ เดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้าเพิ่มเติม ทว่า หาก อัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด หรือบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงเปิดรับความเสี่ยง ก็อาจกดดันเงินดอลลาร์ได้บ้าง

 

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.50-34.30 บาท/ดอลลาร์

 

ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-34.00 บาท/ดอลลาร์

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง