จับตาความสัมพันธ์ ‘อินเดีย-จีน’ หลังประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ครองอำนาจวาระที่ 3
นั่นเป็นเพราะว่า ท่าทีของผู้นำอินเดีย ที่ยังไม่มีการแสดงความยินดีกับผู้นำจีน รวมถึงประเด็นอื่น ๆ
---จับตา สัมพันธ์จีน-อินเดีย ในเทอม 3 ปธน.สี---
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย มักจะโพสต์แสดงความยินดีกับผู้นำโลกในทุกเหตุการณ์สำคัญอย่างรวดเร็วบน Twitter อย่างเช่น แสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค ภายใน 2 ชั่วโมง หลังจากซูนัคได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมและนายกรัฐมนตรีอังกฤษในวันจันทร์ (24 ตุลาคม) ที่ผ่านมา
แต่กลับยังไม่ได้แสดงปฏิกิริยาใด ๆ ต่อสาธารณะ หลังประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นสมัยที่ 3 เมื่อวันอาทิตย์ (23 ตุลาคม) ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองไม่ได้พบกันนอกรอบ การประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ในเดือนกันยายน ท่ามกลางความสัมพันธ์จีน-อินเดียที่ตกต่ำลง ภายหลังปัญหาชายแดนในภูมิภาคลาดัก
---สัมพันธ์อินเดีย-จีนอาจไม่ราบรื่น---
สำนักข่าว The Straits Times สื่อสิงโปร์ มองว่า สำหรับอินเดีย เทอม 3 ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อาจไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองฝ่าย
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ประธานาธิบดีสี เหมือนจะเน้นย้ำนโยบายเดิม และสิ่งนี้อาจแปลได้ว่า ความขัดแย้งระหว่างพรมแดนสองประเทศจะดำเนินต่อไป
ศาสตราจารย์ ฮาร์ช วี. แพนท์ รองประธานฝ่ายการศึกษาและนโยบายต่างประเทศของ Observer Research Foundation ระบุว่า ทุกสิ่งบ่งชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับจีนจะไม่ราบรื่นนัก
ในการกล่าวสุนทรพจน์ของผู้นำสี จิ้นผิง ชี้เห็นว่า เขาจะไม่ทบทวนนโยบายดังกล่าวและจะเน้นย้ำความเข้มงวดมากขึ้น และเห็นได้ชัดว่าเมื่อกล่าวถึงอินเดีย ปรธานาธิบดีสี ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่เสื่อมลงกับอินเดียว่า เป็นความท้าทายที่แท้จริงสำหรับจีน
ดังนั้น จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่จะเห็นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อินเดีย แต่จะยิ่งเสื่อมลงไปอีก และกรณีนี้ อาจเกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ของจีนกับไต้หวันหรือชาติตะวันตกได้เช่นกัน
---ปัญหาสันติภาพตามแนวชายแดน---
ขณะที่หนังสือพิมพ์อินเดียบางฉบับ พาดหัวข่าวสะท้อนการมองโลกในแง่ร้ายเกี่ยวกับอนาคตของความสัมพันธ์จีน-อินเดีย เช่น The Hindustan Times ระบุว่า การครองอำนาจที่ยาวนานขึ้นของผู้นำสี จิ้นผิง เป็นลางไม่ดีสำหรับอินเดียและกลุ่มควอด ซึ่งประกอบด้วย อินเดีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียย่ำแย่ลง หลังจากมีการปะทะกันที่ชายแดนหลายจุดในภูมิภาคลาดักในปี 2020 ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างสูญเสียกำลังพล หลังจากนั้นต่างก็พยายามหลีกเลี่ยงการปะทะ แต่ความสัมพันธ์ยังคงตึงเครียด ขณะที่อินเดียไม่ไว้วางใจจีน
ทั้งสองประเทศมีข้อพิพาทเหนือพรมแดนมานานแล้ว เนื่องจากต่างอ้างสิทธิ์ที่ทับซ้อนกันตาม Line of Actual Control ซึ่งเป็นพรมแดนโดยพฤตินัย
แม้ว่าจีนได้ส่งสัญญาณว่า พร้อมที่จะก้าวไปสู่การปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่อินเดียได้เน้นย้ำหลายครั้งว่า ปัญหาสันติภาพตามแนวชายแดนยังคงเป็นข้อกำหนดเบื้องต้น สำหรับความสัมพันธ์ตามปกติกับจีน
เอส. ไจชันการ์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย ทวีตข้อความเมื่อวันอังคาร ภายหลังพบกับ ซุน เว่ยตง เอกอัครราชทูตจีนประจำอินเดียที่อำลาตำแหน่ง เมื่อวันอังคาร (25 ตุลาคม) ว่า การพัฒนาความสัมพันธ์อินเดีย-จีน ความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนเป็นสิ่งสำคัญ
ทั้งสองฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกันใน 3 ประการ นั่นคือ ความเคารพซึ่งกันและกัน ใส่ใจกันและกัน และความสนใจซึ่งกันและกัน พร้อมระบุว่า การทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับจีนเป็นปกติ อยู่ในความสนใจของทั้งสองฝ่าย ของเอเชียและของโลก
ด้านเอกอัครราชทูตซุน กล่าวในการอำลาตำแหน่งว่า ทั้งสองฝ่ายควรหาจุดยืนร่วมกัน ขณะที่ยังรักษาความแตกต่างไว้ได้
---การขยายอิทธิพลของจีน---
นอกจากปัญหาชายแดนแล้ว อินเดียยังกังวลถึงการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนั้น ตั้งแต่ศรีลังกาทางตอนใต้ไปจนถึงเนปาล และปากีสถานทางตอนเหนือ
โดยจีนมีส่วนร่วมในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในภูมิภาค รวมถึงการจัดหาเงินทุน การควบคุมท่าเรือฮัมบันโตตาในศรีลังกา และระเบียงเศรษฐกิจของปากีสถานที่อยู่ภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ซึ่งรวมถึงการสร้างท่าเรือและเส้นทางรถไฟด้วย
ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า สิ่งนี้จะเพิ่มแรงกดดันให้กับความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างจีนกับอินเดีย
เมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งสองประเทศมีวิวาทะ เกี่ยวกับการเทียบท่าของเรือวิจัยและสำรวจของจีนในศรีลังกา อินเดียมีข้อกังวลด้านความปลอดภัย แม้ศรีลังกาจะอนุญาตให้เทียบท่าได้เพียง 5 วัน
ศาสตราจารย์ บี.อาร์. ดีภัค ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจากมหาวิทยาลัยเยาวหราล เนห์รู (Jawaharlal Nehru University) ระบุว่า สถานการณ์ตามแนวชายแดนได้เลวร้ายลงแล้ว ขณะที่การลดระดับกองกำลังยังไม่เกิดขึ้น ในบริบทนี้ การรุกคืบของจีนในมหาสมุทรอินเดียด้วยขีดความสามารถทางเรือที่เพิ่มขึ้นจะเป็นเรื่องปกติใหม่
---จีนประกาศกระชับสัมพันธ์อาเซียน---
ขณะที่ความสัมพันธ์จีน-อินเดีย ถูกมองว่าไม่ราบรื่น ล่าสุด จีนประกาศกระชับสัมพันธ์กับอาเซียน
หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ประกาศกระชับความสัมพันธ์ด้านความร่วมมือกับอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และจะก้าวไปข้างหน้าร่วมกันในด้านการพัฒนาและความมั่งคั่ง ในการประชุมกับนักการทูตจากสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ที่กรุงปักกิ่งเมื่อวานนี้ (พุธที่ 26 ตุลาคม)
หวัง อี้ ซึ่งรั้งตำแหน่งสมาชิกคณะกรมการเมืองโปลิตบูโรแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย ระบุว่า จีนยังคงให้ความสำคัญอย่างมากต่อกลุ่มประเทศอาเซียน ในการสถาปนาความสัมพันธ์ต่างประเทศ
จีนพร้อมจะทำงานร่วมกับอาเซียน เพื่อบรรลุพัฒนาการและความมั่งคั่งร่วมกัน รวมทั้งก้าวหน้าไปสู่ความทันสมัยร่วมกัน เส้นทางสู่ความทันสมัยของจีนได้สร้างโอกาสใหม่ ๆ มากมายและยังเป็นประโยชน์ต่อทุกประเทศในโลกนี้ และจีนเต็มใจที่จะก้าวเดินไปสู่ความทันสมัยร่วมกันกับกลุ่มประเทศอาเซียน
ในปีนี้ ประเทศในอาเซียนจะได้เป็นเจ้าภาพการประชุมพหุภาคีที่สำคัญหลายรายการ คือ การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20, การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกว่าด้วยความร่วมมือในด้านต่าง ๆ
หวัง อี้ ชี้ว่า การที่อาเซียนได้เป็นเจ้าภาพการประชุมพหุภาคีที่สำคัญถึง 3 รายการในปีนี้ เป็นเครื่องหมายว่า “โลกาภิบาล” (global governance) จะนำมาซึ่ง “เวลาของเอเชีย”
ทางด้านนักการทูตจากอาเซียนได้แสดงความยินดีต่อความสำเร็จของการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นลง และแสดงความหวังที่จะคว้าโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากเส้นทางสู่ความทันสมัยของจีน เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันและสร้างผลลัพธ์แบบ "วิน-วิน" หรือได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
—————
แปล-เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ
ภาพ: Reuters
ข้อมูลอ้างอิง: