พาวิลเลียนต้นแบบจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สถาปัตยกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกทั่วโลก ทำให้ภูมิทัศน์และขอบเขตของสถาปัตยกรรมได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ต้องสงสัย รวมไปถึงการปรับวิธีการสร้างบ้านเรือน ตึก อาคารต่าง ๆ ในแง่ของรูปแบบของโครงสร้างและการหาวัสดุสำหรับการก่อสร้าง
จากความท้าทายที่เกิดขึ้น ทำให้สตูดิโอสถาปัตยกรรม ฮัสเซลล์ (Hassell) ร่วมมือกับสตูดิโอเครื่องพิมพ์ 3 มิติ นางามิ (Nagami) ด้วยการเสนอให้ใช้วัสดุที่ไม่สูญสลายไปตามกาลเวลา จนเกิดการออกแบบพาวิลเลียนต้นแบบจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อใช้ในการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรม
แนวคิดการสร้างพาวิลเลียนต้นแบบเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ได้รับแรงบันดาลใจจากการ์มัค (Qarmaq) ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยแบบห้องเดี่ยวของชาวเอสกิโมทางตอนเหนือของแคนาดา โดยแนวคิดนี้ได้ถูกพัฒนาให้ออกมาเป็นพาวิลเลียน หรือศาลาที่สร้างด้วยการพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งสร้างจากพลาสติกรีไซเคิล โดยได้ออกแบบมาให้เหมาะกับสภาพอากาศที่รุนแรงในแต่ละท้องถิ่นทั่วโลก ทั้งสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด ให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยขนาดเล็กที่มาจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานเพื่อช่วยแก้ปัญหาของคนท้องถิ่นที่ต้องเผชิญความรุนแรงของสภาพอากาศ
พาวิลเลียนต้นแบบจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มีลักษณะคล้ายโดมที่ถูกปิดผนึกอย่างแน่นหนา ผนังด้านนอกมีลวดลายเป็นร่องเพื่อช่วยเก็บหิมะ และเป็นการสร้างฉนวนตามธรรมชาติที่คล้ายกับกระท่อมน้ำแข็งอิกลูแบบดั้งเดิม ด้านบนมีการออกแบบให้มีช่องรับแสงตรงกลาง จึงมีหน้าตาคล้ายกับคุกกี้เนยวานิลลาริงของเดนมาร์ก และพื้นที่บนหลังคายังมีการออกแบบให้เหมือนเปลือกหอย ซึ่งวัสดุหลักที่ถูกนำมาใช้ในการก่อสร้างนี้มาจากขยะพลาสติกรีไซเคิล
การสร้างพาวิลเลียนต้นแบบจากเครื่องพิมพ์ 3 มิตินี้จะมีอิทธิพลกับงานสถาปัตยกรรมสำหรับอนาคต เพราะเป็นการสร้างสิ่งปลูกสร้างให้เข้ากับท้องถิ่นและรองรับกับทุกสภาพอากาศ โดยเป้าหมายของโครงการ คือ การนำวัสดุจากปิโตรเลียมที่ผ่านการใช้งานแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ เพราะจะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังช่วยลดมลพิษและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ด้วย
พาวิลเลียนวัน (Pavilion 1) เป็นศาลาพาวิลเลียนตัวต้นแบบ ซึ่งผลิตด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติเต็มรูปแบบ ซึ่งใช้พลังงานในการผลิตต่ำ โดยมีโครงสร้างหลักประกอบด้วยชิ้นส่วนทั้งหมด 24 ชิ้น ที่แยกจากกันได้ ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายและประกอบได้อย่างง่ายดาย ในปัจจุบันโครงการนียังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาแนวคิด และทางโครงการกำลังมองหาพันธมิตรเพิ่มเติมเพื่อลงทุนสำหรับการผลิตในอนาคต
ที่มาของข้อมูล Design-milk