โควิด-19: เมื่อเสียงร้องไห้ของครอบครัว “อัพ VGB” กลายเป็นคดีความเรียกค่าชดเชยจากการแก้ปัญหาของรัฐ
"มันไม่ใช่เฟคนิวส์ น้องพี่ตายจริงนะ พี่ก็อยากให้มันเป็นเฟคนิวส์เหมือนกัน วันนี้พี่ก็อยากให้อัพนั่งข้าง ๆ พี่เหมือนเดิม"
ประโยคที่เต็มไปด้วยความหมาย ถ่ายทอดผ่านน้ำเสียงสั่นเครือของ นายกุลเชษฐ วัฒนผล ผู้เป็นพี่ชายของนายกุลทรัพย์ วัฒนผล หรือที่รู้จักกันในชื่อ "อัพ VGB" อดีตนักกีฬาอีสปอร์ต ที่กลายเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 เมื่อเดือน เม.ย.
ภาพชายหนุ่มที่นอนอยู่บนเตียงโดยมีอุปกรณ์คล้ายสายให้ออกซิเจนสวมอยู่ พร้อมข้อความที่อธิบายถึงอาการเหนื่อยหอบ และการเฝ้ารอรถพยาบาลมารับกว่า 5 วัน หลังแสดงอาการคล้ายกับเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถูกส่งต่อกันในโลกออนไลน์เป็นวงกว้างเมื่อปลายเดือน เม.ย. นับเป็นจุดเริ่มต้นการเปิดประเด็น "คอขวดผู้ป่วย" ให้เป็นที่พูดถึง แม้ว่าในเวลาต่อมาบัญชีผู้ใช้งานดังกล่าวจะถูกปิดการเข้าถึง เนื่องจากมีคนระดมแจ้งว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง
ในเวลาต่อมาก็ทราบว่าชายหนุ่มคนดังกล่าว คือ กุลเชษฐ หรือ อัพ ที่อาการทรุดลงจนเสียชีวิตในเวลาเพียงสองวัน หลังได้รับการตรวจเชื้อและรักษาตัวในโรงพยาบาล
ทั้งหมดจึงเป็นที่มาให้ครอบครัววัฒนผล กลายเป็นครอบครัวแรกที่ตัดสินใจยื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการ ศบค. รวม 31 คน ฐานปล่อยปละละเลย ไม่ระงับยับยั้งการแพร่ระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่พบคลัสเตอร์ทองหล่อ พร้อมเรียกเงินชดเชย และค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูบุพการี
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ทนายความฝั่งผู้ยื่นฟ้องก็ได้รับแจ้งว่าศาลปกครองรับฟ้องคดีดังกล่าวแล้ว โดยจะมีการส่งคำฟ้องไปให้ผู้ถูกฟ้องแก้ต่างภายใน 30 วัน ก่อนที่จะดำเนินการขั้นตอนต่อไป
บีบีซีไทยร่วมบันทึกถึงการจากไปของ "คลื่นลูกแรก" ของวงการอีสปอร์ตไทย ตามคำนิยามของเพื่อนฝูงและบรรดาคอเกม รวมถึงถอดบทเรียนถึงการรับมือของรัฐบาลผ่านเสียงสะท้อนของครอบครัวผู้สูญเสีย
5 วันกับการเฝ้ารอเสียงไซเรน
ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ครอบครัววัฒนผลกลายเป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่ก่อนเทศกาลสงกรานต์ อัพและเพื่อนออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน โดยระหว่างทางได้พบผู้ขี่จักรยานยนต์บิ๊กไบค์ประสบอุบัติเหตุ ด้วยรูปร่างของอัพที่สูงใหญ่ประกอบกับเป็นผู้ที่ชื่นชอบการขับขี่เช่นกัน จึงเข้าไปช่วยเหลือด้วยความเต็มใจทันที ก่อนที่จะแยกย้ายกันไป
ล่วงเลยมาจนถึงวันที่ 14 เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลที่หลายครอบครัวมักรวมตัวกันเพื่อพบปะผู้หลักผู้ใหญ่ ครอบครัวของอัพก็เป็นหนึ่งในนั้น ด้วยมั่นใจว่าคนในครอบครัวปลอดเชื้อ จากกการที่หนึ่งในสมาชิกได้มีโอกาสตรวจหาเชื้อมาก่อนหน้า จากมาตรการป้องกันในที่ทำงาน การร่วมกันรับประทานอาการในบ้านคุณย่า ซึ่งมีสมาชิกรวมกันราว 10 โดยประมาณจึงดำเนินไปอย่างราบรื่น
แต่แล้วสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดก็เกิดขึ้น ผ่านไปเพียงวันเดียว ผู้ขี่มอเตอร์ไซต์ที่อัพที่เข้าช่วยเหลือติดต่อหาอัพ เพื่อแจ้งข่าวว่าตัวเขาติดเชื้อ จึงเป็นที่มาทำให้ครอบครัวกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงโดยทันที อัพซึ่งมีความเสี่ยงสูงสุดจึงแยกกักตัวทันที ผ่านไปไม่นานคนในบ้านก็เริ่มแสดงอาการไข้ โดยเฉพาะน้องชายคนเล็กที่เข้ารับการตรวจด้วยอาการไข้สูง ซึ่งในขณะนั้นแพทย์ยังคงไม่ได้ค้นหาเชื้อ เนื่องจากลักษณะอาการสันนิษฐานว่าอาจเป็นไข้หวัด หรือไข้เลือดออก ในการเอ็กซเรย์ปอดไม่พบความผิดปกติ จึงกลับมารักษาตัวที่บ้าน
ผ่านไปไม่นานอัพเริ่มแสดงอาการอ่อนเพลีย แม้แต่การลุกเข้าห้องน้ำยังทำได้ยาก ทางครอบครัวจึงใช้ความพยามในการติดต่อทุก "สายด่วน" แต่การติดต่อเป็นไปอย่างยากลำบาก เจ้าหน้าที่แจ้งข้อมูลให้เข้ารับการตรวจในรพ.แห่งหนึ่ง แต่เมื่อติดต่อรพ.ดังกล่าว ได้รับคำตอบว่าปิดรับการตรวจไปแล้ว เนื่องจากมีผู้เข้าตรวจเชื้อจำนวนมาก
อีกความสับสนหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ ในขณะนั้นอาการของอัพปรากฏชัดเจนว่าเข้าข่ายติดเชื้อ แต่สายด่วนบางแห่งให้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีผลตรวจยืนยันก่อนจึงจะสามารถส่งรถไปรับได้ แม้แต่รพ.ที่ตัวอัพมีสิทธิตามประกันสังคมอยู่ก็ไม่สามารถเข้ารับการตรวจได้
"อัพบอกเขาไปไม่ไหวเขาเพลียแล้ว อีกอย่างเขาก็กลัวไปติดคนอื่น อย่างที่ตอนนั้นออกทีวีอยู่ทุกวันว่าใครเป็นให้โทรขอความช่วยเหลือแล้วกักตัวที่บ้านจนกว่ารพ.จะมารับ...น้องพี่ก็รอจนเขาทนไม่ไหวถึงโพสต์"กุลเชษฐเล่าถึงบทสนาที่เขาได้พูดคุยกับน้องชายผ่านโทรศัพท์
นี่จึงเป็นที่มาของโพสต์ที่หลายคนได้เห็นปรากฏเป็นข่าวในช่วงเวลาดังกล่าว
ในที่สุดในวันที่ 21 เม.ย. อัพก็ได้เข้ารับการรักษาในรพ.แห่งหนึ่ง จากความพยายามของเพื่อน ๆ ที่ช่วยกันประสาน เขาจึงได้เดินทางไปด้วยรถกระบะของเพื่อนในทันที
"เข้ารพ.เสร็จ น้องก็อยู่ได้ตามข่าวครับ 2 วัน แล้วเขาก็ไม่ไหว" กุลเชษฐเล่า
"อัพเป็นคนแข็งแรงมาตั้งแต่เด็ก ตัวใหญ่ที่สุดในบ้าน แข็งแรงที่สุดในบ้าน พี่ก็คิดว่าอัพไม่เป็นไร แม้กระทั่งตอนที่ต้องเข้าไอซียู พี่ก็ยังคิดว่าน้องพี่ไม่เป็นไร เราไม่คิดว่าน้องจะไป"
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกจากจะสูญเสียอัพแล้ว ในเวลาต่อมาคุณย่า ก็กลายเป็นผู้เสียชีวิตอีกราย นำมาซึ่งความโศกเศร้ามากขึ้นแก่กุลเชษฐผู้ที่คุณย่าเลี้ยงดูมาแต่เด็กไม่ต่างกับแม่คนหนึ่ง จึงคล้ายกับถูกพรากน้องชายและคุณแม่ไปในช่วงเวลาเดียวกัน
นับจนถึงปัจจุบันยังมีญาติอีก 2 คนที่ยังคงรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู "คนที่หายแล้วก็กักตัวต่อ นี่ก็เกิน 14 วันแล้วก็ไม่มีใครออกไปไหน ทุกคนกลัว แม้รู้ว่ามีภูมิคุ้มกันแต่ก็ยังกลัว"
โควิดดับฝันอัพ
"ที่สำคัญก็คืออัพบอกจะแต่งงานตุลานี้"
การพบปะช่วงสงกรานต์ในครั้งนั้น นอกเหนือจากถูกจดจำว่าเป็นที่มาให้ในครอบครัวติดเชื้อแล้ว บรรยากาศความยินดีจากการที่อัพแจ้งเรื่องแผนการแต่งงาน ซึ่งสร้างความดีใจให้กับญาติพี่น้องก็ยังคงกลายเป็นอีกหนึ่งความทรงจำเช่นกัน
เมื่อเกิดความสูญเสีย โรคระบาดครั้งนี้จึงไม่เพียงแย่งชิงหนึ่งลูกชายคนสำคัญของครอบครัว แต่ยังช่วงชิงหนึ่งว่าที่หัวหน้าครอบครัว ที่พี่ชายอย่างกุลเชษฐ เชื่อว่าอัพจะทำหน้าที่นั้นได้อย่างดีแน่นอน
กุลเชษฐ เล่าว่า คนทั่วไปอาจจดจำอัพในบทบาทหัวหน้าแคลน VGB ที่สร้างชื่อมามากมาย และเป็นยอดฝีมือของเกมวางแผนการรบคนหนึ่ง ทั้งยังเป็นแชมป์ประเทศไทยในหลายเกม จนทำให้กีฬาอีสปอร์ตเป็นที่รู้จักในช่วงเวลานั้น สองพี่น้องยังได้มีโอกาสต่อยอดไปสู่การพัฒนาแอพลิชันเกมในโทรศัพท์มือถืออีกด้วย
ก่อนเสียชีวิต อัพหันมาทำธุรกิจซื้อขายชิ้นส่วนจักรยานยนต์ รวมถึงมีแผนจะต่อยอดทำธุรกิจอื่น ๆ จนกลายเป็นเรี่ยวแรงหลักในการดูแลค่าใช้จ่าย และชีวิตความเป็นอยู่ของคุณแม่ อีกทั้งด้วยลูกชายคนนี้มีเพื่อนเยอะ บรรยากาศของบ้านจึงเป็นไปอย่างคึกคัก การขาดหายไปครั้งนี้จึงสร้างความไม่คุ้นชินครั้งใหญ่กับครอบครัว
"แม่เขาเลี้ยงอัพมากับมือ เหมือนเขาสูญเสียทุกอย่างของเขา พูดถึงเขาก็ยังร้องหาอยู่"
ย้อนกลับไปกับช่วงชีวิตของครอบครัวสามพี่น้องตัว อ. "อุ๋ย อัพ อั้ม" ที่อายุห่างกันคนละ 5 ปี พวกเขาเป็นครอบครัวที่เติบโตมากับเกมเลยก็ว่าได้ ไม่เว้นคุณพ่อที่ก็เป็นหนึ่งในคอเกม บ้านนี้จึงไม่ประสบปัญหาปัญหาอย่างครอบครัวอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ยอมรับหากลูก ๆ จะใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวตอร์บ่อย ๆ จนไปถึงขั้นอยากเอาดีในเส้นทางนี้
"คุณพ่อไม่เคยได้ขัด มาเล่นด้วย บ้านเรามีเครื่องเกมทุกแบบ เล่นกันไปกันมาก็อัพก็เริ่มไปแข่ง พี่ก็เหมือนเป็นคู่ซ้อมของเขาไปด้วย"
การเป็นลูกชายคนกลางของอัพ จึงเป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมบทสนทนาทุกคนในบ้าน
ไม่คาดหวังจะต้องชนะ
กุลเชษฐสะท้อนประเด็นหนึ่งที่คิดว่าหลายครอบครัวต้องประสบ คือ ค่าใช้จ่ายของการติดตามอาการภายหลังหายป่วยแล้ว อย่างกรณีของคุณแม่ของเขา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ติดเชื้อและมีอาการเชื้อลงปอด เมื่อได้รับอนุญาตให้กลับบ้านแล้ว แพทย์ก็ทำนัดเพื่อตรวจอาการเป็นระยะ
"ทาง รพ. ก็แจ้งว่าสิทธิของรัฐ ให้เฉพาะตอนที่นอนรักษา ถ้ากลับบ้านไปแล้วกลับมาเช็คอัพต่อ อันนี้เขาไม่รวม ถ้าจะใช้สิทธิ์ก็ต้องไปเข้าบัตรทองตามสิทธิ์"
โดยในหลายกรณีในขั้นตอนการเข้ารับการรักษายังรพ.แห่งหนึ่ง ก็อาจไม่ใช่รพ.ตามสิทธิการรักษาปกติแต่เดิม ขั้นตอนนี้จึงค่อนข้างยุ่งยาก และนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
กุลเชษฐ เล่าถึงที่มาที่ทำให้ครอบครัวตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ในประเด็นสำคัญ คือ การปล่อยปละละเลยให้มีการเปิดสถานบันเทิง จนนำมาซึ่งคลัสเตอร์ทองหล่อ การปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน รวมถึงการให้ข้อมูลของศบค. ซึ่งแนะนำข้อปฏิบัติของผู้ติดเชื้อที่ให้กักตัวรอการมารับของเจ้าหน้าที่ จนนำมาซึ่งการเสียชีวิต
สำหรับค่าชดเชยที่ครอบครัวเรียกร้องไปนั้น เป็นค่าปลงศพ 30,000 บาท และค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูบุพการี คือ มารดา เดือนละ 15,000 บาท เป็นเวลา 25 ปี ซึ่งประเมินจากการที่หากอัพมีอายุครบ 60 ปี รวมเป็นค่าเสียหายจำนวนทั้งสิ้น 4,530,000 บาท
กุลเชษฐยืนยันว่า การประเมินค่าชดเชยนั้นเป็นไปตามความจริง ไม่ได้เรียกร้องสิ่งใดที่เกินกว่าเหตุ ทั้งการฟ้องร้องก็เป็นไปด้วยจุดมุ่งหมาย เพื่อหวังว่าเจ้าหน้าที่จะฟังเสียง และปรับปรุงการทำงาน ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับครอบครัวอื่น
"ก็มีคนถามทำไมกล้าออกมาเรียกร้อง บางคนก็ด่าว่าเราหน้าเงิน เราไม่ได้ต้องการตรงนั้น พี่ไม่ได้คาดหวังว่าเราจะชนะ เราแค่อยากให้ทุกคนรู้ว่าประชาชนมีสิทธิร้องเรื่องการปกครองที่มีปัญหา เพื่อจะได้ปรับปรุงให้มันดีขึ้น"
อย่างไรก็ตามการจากไปของอัพในครั้งนั้น ได้ทิ้งหนึ่งโอกาสสำคัญให้กับกุลเชษฐ ในการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาสาสมัครอย่าง "เส้นด้าย" ที่ร่วมทำหน้าที่ประสานงานในการส่งต่อผู้ป่วยในช่วงโรคระบาด เพื่อหวังว่าจะช่วยลดการสูญเสียอย่างที่ครอบครัวเขาเคยประสบ
"เราสูญเสีย แล้วเรารู้ความหนักหนาของการสูญเสีย คนในครอบครัวคนหนึ่งตายไม่ใช่ว่าไปเผาแล้วจบ มันมีเรื่องภาระความรับผิดชอบคน ๆ นั้น เรื่องจิตใจว่าถ้าเขายังอยู่มันคงดีกว่านี้ พี่ไม่อยากให้มันเกิด"