ดรามาเกษตรแฟร์ 2566 “ หมอกินคนไข้” ติดเทรนด์! ชาวเน็ตถกกันหัวจะปวด
วันนี้ ( 3 ก.พ. 2566) ถือเป็นวันแรกของงานเกษตรแฟร์ 2566 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นร้านที่ใครหลายคนรอคอย เนื่องจากมีการออกงานร้านรวงต่างๆ ที่จัดขึ้นโดยนิสิตม.เกษตร ให้เดินชิม ช้อปกันอย่างจุใจ อย่างไรก็ตามก็มิวายมีดรามาเกิดขึ้นจนได้เมื่อมีผู้ทวิตรายหนึ่งโพสต์ข้อความว่า
“#เกษตรแฟร์ ปีนี้ช่วงวันที่ 4-11 ก.พ. จะมีเมนูเนื้อกระต่ายกับเนื้อจระเข้ ขายโดยนิสิตสัตวแพทย์ค่ะ ช่วยกันติดแท็กให้ข่าวกระจายนะคะ ไม่ควรมีสัตว์ตัวไหนต้องตายเพราะบุคลกรทางการสัตวแพทย์เอามาทำขายเป็นอาหารเลยค่ะ #หมอกินคนไข้ อยากให้ผู้จัดนำไปพิจารณาด้วยค่ะ ”
ซึ่งหลังจากโพสต์นี้เผยแพร่ออกไป มีการรีทวีตไปกว่า 5 พันครั้งเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังติดเทรนด์ทวิตเตอร์อีกด้วย
ด้านชาวทวีตที่ได้เห็นข้อความดังกล่าว ได้เข้ามาแสดงความเห็น โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย อาทิ “ถ้าใครเรียนสาขานี้ต้องเป็นวีแกนหรือตรับ??? เขาน่าจะเรียนเพื่อรักษาสัตว์เลี้ยง ส่วนสัตว์ที่คนเรากิน เขาจะทำให้คนไม่ได้รับเชื้อจากสัตว์มากกว่านะครับ”
“แล้วมันต่างอะไรจากเนื้อหมู เนื้อไก่ ของพวกนี้เป็นของที่มีการนำมากินเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งคณะสัตวแพทย์ เค้าก็ไม่ได้เอามาจากสัตว์ที่เขาเอาเรียนรู้หรือเอาทดลองอ่ะ เค้ามีฟาร์มขายทั่วๆ ไปเลยค่ะ เหมือนเนื้อสัตว์อื่นๆ อ่ะ ถ้าอย่างนั้นคุณก็ต้องไปห้ามทั่วโลกเลยไหมล่ะคะ?”
บางรายก็ระบุว่า “สัตวแพทย์ไม่ได้ทำหน้าที่แค่การรักษาสัตว์นะคะ ยังมีหน้าที่อื่นๆอย่างการควบคุมการการุณยฆาตสัตว์ที่นำมาบริโภคให้ถูกหลักสวัสดิภาพสัตว์ การควบคุมคุณภาพอาหารว่าปลอดภัยต่อการบริโภคมั้ย ส่วนเนื้อต่างๆที่นำมาทำในงานล้วนมาจากฟาร์มที่เลี้ยงเพื่อการบริโภค
สัตวแพทย์ก็คือบุคคลธรรมดา ที่สามารถประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภคได้ เพราะงั้นอย่าเรียกว่าส่งเสริมการฆ่าสัตว์เลยค่ะ”
ทั้งนี้เจ้าของข้อความได้ออกมาโต้แย้งโดยให้เหตุผลว่า “ เรื่องกินคนไข้ เรื่องเลี้ยงสัตว์มาเป็นอาหารคนก็ทำมาตั้งนานละ แต่มันควรทำหรอ ยิ่งในฐานะสัตวแพทย์ ถึงการห้ามฆ่าสัตว์เพื่ออาหาร 100% มันยังทำไม่ได้ แต่ในฐานะผู้บริบาลสัตว์ก็ไม่ควรจะมาส่งเสริมการฆ่าสัตว์เป็นอาหารอะ” และ “จะฆ่าหรือไม่ฆ่าเองก็คือการสนับสนุนการฆ่าสัตว์เพื่อมาบริโภคเป็นอาหารแล้ว แทบไม่ต่างอะไรกัน แทนที่จะหาวิธีให้สัตว์ได้ประโยชน์ นี่กลายเป็นเอาสัตว์มาหาผลประโยชน์แทน”
ทั้งนี้ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผล ในมุมมองของตนเอง บางรายที่ได้เห็นแฮชแท็กนี้ ต่างระบุว่านึกว่าเป็นเรื่องของคดีฆาตกรรม หรือ การโปรโมตหนังเสียอีก พอเข้าไปอ่านจริงๆกลับกลายเป็นประเด็นของการขายอาหารในเกษตรแฟร์เสียนี่
ภาพจาก : Netflix