รีเซต

กฎยาบ้า 5 เม็ดแบ่งผู้เสพกับผู้ค้า สังคมได้อะไรเมื่อสุดท้ายยามรณะไม่ได้หายไปไหน

กฎยาบ้า 5 เม็ดแบ่งผู้เสพกับผู้ค้า สังคมได้อะไรเมื่อสุดท้ายยามรณะไม่ได้หายไปไหน
TNN ช่อง16
4 พฤศจิกายน 2566 ( 09:20 )
159
กฎยาบ้า 5 เม็ดแบ่งผู้เสพกับผู้ค้า สังคมได้อะไรเมื่อสุดท้ายยามรณะไม่ได้หายไปไหน


วันนี้ (3 พฤศจิกายน) ผลสรุปจากวงประชุม ‘หารือการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษ ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ’ ซึ่งนำโดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 


ทุกฝ่ายเห็นพ้องไปในทางเดียวกันแล้วว่า ‘จำนวนการถือครองเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้าที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในการครอบครองเพื่อใช้เสพ ควรกำหนดไว้ไม่เกิน 5 เม็ด’ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของกฎหมายและให้โอกาสผู้ถือครองได้สมัครใจเข้าบำบัดรักษาโดยไม่ถูกดำเนินคดี


แต่ทั้งนี้ยังมีเงื่อนไขว่าหากสืบทราบพบพฤติกรรมการค้าแม้จะถือครองที่ 5 เม็ดก็จะถูกดำเนินคดีไม่ได้รับการละเว้น


กฎเกณฑ์ดังกล่าวแม้จะได้รับการสรุปและจะนำไปสู่ขั้นต่อไปเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อออกกฎกระทรวงในที่สุด แต่ตัวเลข 5 เม็ดนี้จะเกิดประโยชน์ ที่แท้จริงกับประชาชนหรือไม่ เพราะสุดท้ายแล้ว ยาบ้าหรือยามรณะ ไม่ได้หายไปไหนแต่ยังคงวนเวียนอยู่ในสังคมไทยอย่างไม่จบสิ้น


จุดเริ่มต้นหารือคือ 10 เม็ด จำนวนที่มีความเห็นทางการแพทย์รับรอง


ย้อนกลับไปช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้เปิดประเด็นการเตรียมประกาศ กำหนดให้ผู้ที่ถือครองยาบ้า(เมทแอมเฟตามีน) จำนวนต่ำกว่า 10 เม็ดนั้นให้มีสถานะเป็นผู้เสพ จากแต่เดิมที่การถือครองยาบ้าในจำนวนดังกล่าวจะต้องถูกจัดว่าเป็นผู้ค้า


จากที่ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ปีงบประมาณ 2567 มีการรายงานข้อมูลทางการแพทย์ไว้ว่า ในยาบ้า 1 เม็ด มีสารบริสุทธิ์ 10-20 มิลลิกรัม(ยาบ้าทั้งเม็ด คือ 100 มิลลิกรัม)


โดยผู้ที่เสพจะเสพ 1-3 เม็ดต่อวัน ขณะที่คนขายจะพกไม่เกิน 10 เม็ด หากพิจารณาถึงความอันตราย คนเสพเกิน 50 มิลลิกรัมต่อวัน จะมีอาการหลอนเหมือนคนบ้า แต่ถ้าเสพวันละ 120 มิลลิกรัมจะเสียชีวิต 


ฉะนั้นจึงเกิดการวิเคราะห์ว่าหาก 10 เม็ดมีปริมาณสารในเม็ดยา 15 มิลลิกรัม รวมแล้วประมาณ 150 มิลลิกรัมซึ่งมากกว่าที่ผู้เสพ1 คนจะเสพได้ จึงเกิดการตั้งสมการว่าผู้ที่พกยาบ้าจำนวน 10 เม็ดขึ้นไปถึงจะเข้าข่ายเป็นผู้ค้า


คลื่นความเห็นผู้บังคับใช้กฎหมายที่มองว่า 5 เม็ดคือการลดช่องโหว่ของผู้ค้าราย่อย


พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนงานด้านการปราบปรามยาเสพติดให้เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เรื่องการลดปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชน และตัดวงจรผู้ค้ารายย่อยให้หมดไป ก็เห็นควรกำหนดปริมาณยาเสพติดไว้ที่ 5 หน่วยการใช้ หรือ 5 เม็ดเท่านั้น


เพราะ ยาเสพติด(ยาบ้า)จำนวน 5 เม็ด ได้ผ่านการหารือจากหน่วยที่เกี่ยวข้องในเวทีการประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศอ.ปส.ตร.) แล้ว โดยขณะนั้นมี พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานในการหารือ


ในการประชุมระบุเหตุผลว่าเป็นปริมาณยาเสพติดที่ผู้ค้ารายย่อยไม่คุ้มค่าความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี หากกำหนดปริมาณยาเสพติดที่ 10 เม็ด จะเป็นปริมาณที่ผู้ค้ารายย่อยนิยมจำหน่ายในชุมชน หากถูกจับกุมก็สามารถเลี่ยงการถูกดำเนินคดี โดยสมัครใจเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้ และจะทำให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดในชุมชน และเกิดผู้ค้ารายย่อยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งอนาคตผู้ค้ากลุ่มนี้จะพัฒนาไปเป็นผู้ค้ารายใหญ่ต่อไป


ความเห็นผู้บูรณาการระหว่างการฟื้นฟูรักษากับการใช้กฎหมายที่มองว่า 5 เม็ด คือสิ่งที่ตำรวจยึดใช้มาตลอด


พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวว่า การจัดเกณฑ์ผู้ครอบครองเพื่อเสพจำนวน 10 เม็ด โทษที่ตามมาคือจะทำให้เกิดผู้ค้ารายย่อยมากขึ้น เพราะในการค้าแต่ละครั้งผู้ค้ารายย่อยจะไม่เกรงกลัวต่อการพกพายาบ้าเพราะสามารถพกพาได้ถึง 10 เม็ด ต่างจากเดิมที่การพกเกินกว่า 5 เม็ดก็ถือว่ามีโทษค้าแล้ว


ในฐานะ ป.ป.ส. ที่มีหน้าที่ที่จะต้องบูรณาการการบำบัดฟื้นฟู คู่กับการบังคับใช้กฎหมายส่วนตัวได้มีข้อเสนอว่าเกณฑ์การครอบครองควรจะอยู่ที่ 5 เม็ด ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานยึดหลักนี้มาตลอด


อย่างไรก็ตามการเปิดประเด็นหรือการเสนอความคิดเห็นยังถือเป็นการเสนอแนะเท่านั้นยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนว่า อนาคตจะกำหนดจำนวนยาบ้ากี่เม็ด ปริมาณเท่าไหร่ถึงจะแบ่งแยกผู้เสพและผู้ค้า ซึ่งจากรายงานคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนช่วงวันที่ 18-20 ธันวาคม 2566 ที่นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในการประชุมเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเอง


สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะแบ่งเกณฑ์ยาบ้า 5 เม็ดหรือ 10 เม็ดประชาชนจะได้อะไรจากเรื่องนี้ 


ทีมข่าว TNN Online ชวนพิจารณณา รายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์คดี พ.ร.บ.ยาเสพติดทั่วประเทศของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งสำรวจเมื่อ 1 มกราคม 2566 พบว่า มีผู้ต้องราชทัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดรวม 206,361 คน มีนักโทษเด็ดขาด 170,860 คน ในที่นี้มีเยาวชนที่ฝากขัง 5 คน และผู้ต้องกักขัง 1,763 คน 


ขณะที่รายงานจากสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี จัดเก็บข้อมูลช่วงปีงบประมาณ 2562-2566 อาชีพ ที่พบมีพฤติกรรมเสพยาเสพติดมากที่สุดได้แก่ กลุ่มคนว่างงาน 879 คน รองลงมารับจ้าง 794 คน ส่วนอัตราการเข้าบำบัดรักษา ผู้มารับบริการครั้งแรก 1,238 คน และ เข้ารับการบำบัดซ้ำ 797 คน


แต่ทั้งนี้นอกจากการพูดคุยเรื่องการกำหนดจำนวนยาบ้ายังมีการพูดถึงปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางนโยบายเร่งด่วนกำหนดระยะเวลา 1ปี


มีเป้าหมาย 4 ด้าน ประกอบด้วย ลดความรุนแรงของผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด,ลดจำนวนผู้เสพและผู้ติดยาเสพติด,ลดการค้าและแพร่ระบาดยาเสพติดในพื้นที่ และลดปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการแพร่ระบาดยาเสพติด


ในส่วนของการลดความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดมีการกำหนดการเฝ้าระวังเหตุผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตมากหรือรุนแรงจำนวน 6,987 คนจาก 32,623 คน


ในส่วนการป้องกันการลักลอบนำเข้ายาบ้าให้คณะกรรมการป.ป.ส. กำหนดพื้นที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามชายขอบประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งทางภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนซึ่งเป็นจุดที่มีการลักลอบนำเข้ายาเสพติดสู่ประเทศไทยมาก


สุดท้ายแล้วประชาชนอาจจะได้รับประโยชน์ จากมาตรการยาเสพติดในแผน ที่รัฐบาลกำหนดว่า 1 ปีต้องทำให้สำเร็จมากกว่าข้อเสนอแนะเรื่องการจำกัดจำนวนยาบ้า 5 เม็ด เพราะสิ่งที่ดีที่สุดคือการลดหรือกำจัดให้ยามรณะนี้ออกจากประเทศไทยให้ได้มากที่สุด




ภาพ Gettyimage 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง