รีเซต

ธปท.ห่วงโควิด-19 ยังกระทบหนี้ครัวเรือน-SME-ตลาดทุน

ธปท.ห่วงโควิด-19 ยังกระทบหนี้ครัวเรือน-SME-ตลาดทุน
TNN ช่อง16
10 กรกฎาคม 2563 ( 14:27 )
119
ธปท.ห่วงโควิด-19 ยังกระทบหนี้ครัวเรือน-SME-ตลาดทุน

วันนี้ (10 ก.ค.63) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน(กนส.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ประชุมเพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย  โดยที่ประชุมเห็นว่า ระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.)และธุรกิจประกันภัยมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง  อย่างไรก็ดีระบบการเงินมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)ที่ยังมีความไม่แน่นอนว่าการแพร่ระบาดของโรคจะสิ้นสุดลงเมื่อใด และผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินจะยืดเยื้อเพียงใด จึงจำเป็นต้องรักษากันชน (buffer) ระดับสูงไว้อย่างต่อเนื่อง  ในสถานการณ์ที่มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในหลายประเทศรวมทั้งไทยทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  รายได้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ปรับลดลงมาก และยังต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับมาเป็นปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ด้อยลงเป็นวงกว้าง รวมทั้งรูปแบบการดำเนินธุรกิจและวิถีชีวิตใหม่ของประชาชนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุมได้ประเมินความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 (scenarioanalysis)อย่างรอบด้าน  โดยที่ประชุมให้น้ำหนักกับการดำเนินงานที่สำคัญ 3 ด้าน ดังนี้

1.การประเมินผลมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งครัวเรือนธุรกิจ และตลาดการเงินที่ได้ดำเนินการแล้วเพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการต่าง ๆ สามารถช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องได้ตรงจุดและทันการณ์ในช่วงเยียวยาและช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อสิ้นสุดมาตรการการให้ความช่วยเหลือแล้ว จะไม่ส่งผลให้ภาระหนี้ของลูกหนี้เร่งขึ้นจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ 

ด้านการดูแลสภาพคล่องและรักษาเสถียรภาพตลาดการเงิน ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง  พร้อมทั้งตั้งกลไกช่วยเหลือกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน ( MFLF) และกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) ซึ่งมีส่วนช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ลงทุน และทำให้กลไกการทำงานในตลาดการเงินปรับดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา 

2. การเร่งผลักดันมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้(proactive debt restructuring) เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ ซึ่งกลไกดังกล่าวต้องเหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจและลักษณะปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม รวมถึงต้องสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้หลังสถานการณ์ COVID-19คลี่คลาย  ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างออกแนวทางการจัดตั้งกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับลงทุนได้ (highyield bond fund) เพื่อสนับสนุนเงินทุนในช่วงสั้นๆ (bridge finance) 

3. การดำเนินมาตรการเพื่อรักษาความแข็งแกร่งของระบบการเงินไทย การกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวังในช่วงที่ผ่านมาช่วยให้ระบบการเงินไทยแข็งแกร่งและสามารถรองรับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่หดตัวและความผันผวนในตลาดการเงินได้ อย่างไรก็ดี ภาคส่วนต่าง ๆ ในระบบการเงินควรให้ความสำคัญกับการประเมินความเพียงพอของ buffer ภายใต้ภาวะวิกฤต (stress test) เพื่อเตรียมแนวทางรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า

โดยที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินมาตรการสนับสนุนให้ ธพ. รักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง เช่น การขอความร่วมมือให้ ธพ. ไม่จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานในปี 2563 และไม่ซื้อหุ้นคืนเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่มีแนวโน้มด้อยลงและสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อไป

ขณะที่ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างปรับปรุงเกณฑ์ เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มีเครื่องมือที่หลากหลายมากขึ้นในการบริหารจัดการสภาพคล่องของกองทุนรวม ด้านสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อยู่ระหว่างการปรับปรุงเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนเพื่อดูแลความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย โดยในระยะต่อไปธปท. ก.ล.ต. และ คปภ. จะร่วมกันประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ตลอดจนประสิทธิผลของมาตรการที่ดำเนินการไปแล้วอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพร้อมออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามจนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทย รวมทั้งปรับแนวทางการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับความปกติใหม่ (new normal) ภายใต้บริบททางเศรษฐกิจการเงินและโครงสร้างระบบการเงินที่เปลี่ยนไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 ธปท.สั่งแบงก์พาณิชย์งดจ่ายเงินปันผล-การซื้อหุ้นคืน

 ธปท.แจงหนี้6ล้านล้านไม่ใช่หนี้สาธารณะ-ไม่ใช่ภาระของประเทศ

 ธปท.เตรียมพิจารณาใช้มาตรการที่จำเป็นสกัดเงินบาทแข็งค่า


เกาะติดข่าวที่นี่ 

website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง