ผลวิจัยบริโภค "โซเดียม" กลุ่มตัวอย่าง 4 จังหวัด ค่าเฉลี่ยสูงกว่าที่ WHO กำหนด
กระทรวงสาธารณสุข เผย "ผลวิจัยบริโภคโซเดียม" ของกลุ่มตัวอย่างอายุ 20-69 ปีใน 4 จังหวัด พบค่าเฉลี่ยสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิระดับ 11) ในฐานะประธานคณะกรรมการ MIU (MOPH Intelligence Unit) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าผลักดันการลดบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรลง ร้อยละ 30 ให้สำเร็จภายใน พ.ศ. 2568 ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก เพื่อลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
การวิจัยเกี่ยวกับ “ปริมาณการบริโภคโซเดียมของประชากรไทย จากการประเมินปริมาณโซเดียมในปัสสาวะ 24 ชั่วโมง ของกลุ่มตัวอย่างอายุ 20-69 ปี ใน 4 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และพะเยา รวม 1,440 ราย พบว่า ค่าเฉลี่ยการบริโภคโซเดียม/วันรวม 4 จังหวัด เท่ากับ 3,236.8 มก. ซึ่งสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือ 2,000 มก.
โดย จ.พะเยา มีค่าเฉลี่ยการบริโภคโซเดียม/วันสูงถึง 4,054.8 มก.
-อำนาจเจริญ 3,773.9 มก.
-อุบลราชธานี 3,131.3 มก.
-ศรีสะเกษ 2,906.5 มก.
โดยมีปัจจัยที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียมในปริมาณที่สูง คือ ระดับดัชนีมวลกายมาก อายุน้อย ระดับการศึกษามัธยมมากกว่าประถม และระดับรายได้เกินหมื่นบาทต่อเดือน นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม การดำรงชีวิต วัฒนธรรมการบริโภคและอาหารประจำถิ่น อีกด้วย
ที่มา กรมควบคุมโรค
แฟ้มภาพ TNN Online/AFP