รีเซต

สิทธิ UCEP คืออะไร? ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต UCEP คุ้มครองภายใน 72 ชั่วโมง เช็กวิธีที่นี่!

สิทธิ UCEP คืออะไร? ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต UCEP คุ้มครองภายใน 72 ชั่วโมง เช็กวิธีที่นี่!
TeaC
12 กุมภาพันธ์ 2565 ( 11:28 )
741
1

รู้ก่อน รักษาทัน!  นอกจากสถานการณ์โรคโควิดระบาดอย่างหนัก ยังอาจมีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เช่น อาการของโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งต้องรีบขอความช่วยเหลือทางการแพทย์เร่งด้วย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้พ้นวิกฤตเร็วที่สุด โดยหากสมาชิกในบ้านของคุณเกิดอาการของโรคที่เข้าในเหณฑ์การใช้ สิทธิ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถรักษาฟรีทุกโรงพยาบาล  โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง TrueID รวบรวมข้อมูลมาให้ศึกษากัน 

 

ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต UCEP 

 

ทำความเข้าใจ สิทธิ UCEP กันสักนิด!!!

 

เป็นสิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤต หรือสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยประชาชนคนไทยที่เป็น "ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต" ที่เข้าเกณฑ์การคัดแยก มีสิทธิในการใช้ "สิทธิ UCEP"

 

ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต จะใช้สิทธิ UCEP ต้องเข้าเกณฑ์ใดบ้าง ?

 

1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ

2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง

3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม

4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง

5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด

6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต


ใครเป็นคนจ่ายเงิน แล้วถ้าครบ 72 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะเป็นยังไง ?

 

ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง ที่มารักษากับโรงพยาบาลใดก็ตาม ทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จะเป็นคนดูแลค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด แต่เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว ผู้ป่วยจะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิรักษาโดยตรงดูแลต่อ ส่วนผู้ป่วยที่ทางโรงพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิรักษาตรงถ้าไม่สามารถรับไปดูแลได้ ทางศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ. จะแจ้งไปยังกองทุนต่าง ๆ เพื่อให้ดำเนินการตามเงื่อนไขของกองทุนนั้น ๆ ต่อไป

 

ขั้นตอนการใช้สิทธิ์ UCEP

 

1. ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

2. โรงพยาบาลประเมินอาการ และคัดแยกระดับความฉุกเฉินในโปรแกรม Emergency Pre-Authorize

3. ศศส.สพฉ.ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล

4. กรณีเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต จะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิ UCEP ทันที โดยกองทุนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายตั้งแต่เข้าโรงพยาบาลจนถึงเวลาที่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง

5. กรณีไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต ผู้ป่วยสามารถย้ายไปโรงพยาบาลตามสิทธิ หรือรักษาต่อได้ โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง


ผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม หรือต้องการสอบถามข้อมูลการใช้สิทธิ UCEP สามารถโทรไปที่ สายด่วน 1669 หรือ เพจเฟซบุ๊ก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ -สพฉ.1669 

 

 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง