รีเซต

พิษค่าครองชีพสูง ฉุดความความเชื่อมั่นชายแดนใต้ต่ำลง วอนรัฐเร่งลดภาระครัวเรือน

พิษค่าครองชีพสูง ฉุดความความเชื่อมั่นชายแดนใต้ต่ำลง วอนรัฐเร่งลดภาระครัวเรือน
มติชน
11 พฤษภาคม 2565 ( 12:40 )
58
พิษค่าครองชีพสูง ฉุดความความเชื่อมั่นชายแดนใต้ต่ำลง วอนรัฐเร่งลดภาระครัวเรือน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พบว่า ความเชื่อมั่นโดยรวม ไตรมาส 1/2565 ลดลงมาอยู่ที่ 52.32 จากไตรมาส 4/2564 อยู่ที่ 53.49 โดยความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมลดลง จากความกังวลเรื่องปัญหาค่าครองชีพสูง อีกทั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจซบเซา

 

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบัน ลดลงมาอยู่ที่ 47.58 จากไตรมาส 4/2564 อยู่ที่ 49.82 ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 56.94 จาก 57.46 ทั้งนี้จำแนกรายจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า สตูล มีความเชื่อมั่นโดยรวมสูงสุด อยู่ที่ 57.03 รองลงมา คือ สงขลา นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

 

นายรณรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาที่ประชาชนกังวลมากที่สุด คือ ปัญหาเรื่องค่าครองชีพหรือสินค้าและบริการมีราคาสูง รองลงมาคือปัญหารายได้ตกต่ำ ประชาชนมีความกังวลเพิ่มขึ้น และต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จากภาครัฐด้านการลดภาระค่าครองชีพ การมีงานทำและรายได้ รวมถึงการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร

 

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า ศอบต.มุ่งเน้นการสร้างงาน สร้างอาชีพมุ่งเน้นการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยให้ความสำคัญเร่งด่วนกับครัวเรือนยากจนในพื้นที่ 4 จังหวัดและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ประมาณ 53,519 ครัวเรือน โดยจัดทำโครงการนำร่อง 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน จำนวน 379 ครัวเรือน เพื่อค้นหากลไกการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทุกด้านมุ่งเป้าหมายให้สอดคล้องกับปัญหาความเดือดร้อน และความต้องการของประชาชนและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ให้มากที่สุด การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญของการขับเคลื่อน และการแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง