รีเซต

เชื่อมั่นผู้บริโภค-ธุรกิจ ร่วงยกแผง ต่ำรอบ 5 เดือน 3 ปัจจัยกดดันหนัก "โอมิครอนพุ่ง-น้ำมันแพง-ค่าครองชีพสูง"

เชื่อมั่นผู้บริโภค-ธุรกิจ ร่วงยกแผง ต่ำรอบ 5 เดือน 3 ปัจจัยกดดันหนัก "โอมิครอนพุ่ง-น้ำมันแพง-ค่าครองชีพสูง"
มติชน
9 มีนาคม 2565 ( 13:04 )
62

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย(ภาคเอกชน) เดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบว่า ดัชนีทุกรายการลดลง โดยค่าดัชนีลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จากความกังวลใน 3 ปัจจัยหลัก คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นและกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต รวมถึงการที่ระดับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและปัญหาราคาสินค้าแพง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

 

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า โดยส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม ( CCI) ลดลงจากระดับ 44.8 เดือนมกราคม เป็น 43.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ลดลงจาก 28.5 มาอยู่ที่ 27.5 ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตลดลงจากระดับ 52.5 มาอยู่ 50.8 ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 37.2 40.1 และ 52.6 ตามลำดับ ลดลงจาก 38.7 41.4 และ 54.4 ตามลำดับ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยโดยรวมอยู่ที่ 36.1 จากระดับ 37.2 ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในปัจจุบัน อยู่ที่ 36.7 จาก 38.1 ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในอนาคต อยู่ระดับ 35.5 จาก 36.2

 

“ทุกดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก ล้วนมาจากความกังวลในวิกฤตโควิดในไทยและทั่วโลก จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซ้ำเติมด้วยปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต หลายประเทศมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับรัสเซียมากขึ้น และอาจมีภาวะสงครามยืดเยื้อและบานปลาย อาจส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดน้อยถดลงและระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาวะสงคราม ซึ่งต้องติดตามว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงไรและยาวนานเพียงใด โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง คาดว่าเดือนถัดจากนี้ความเชื่อมั่นมีโอกาสลลดลงต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 3.5-4.5%” นายธนวรรธน์ กล่าว

 

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ข้อเสนอที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ คือ หาแนวทางป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสงครามรัสเซียกับยูเครน ออกมาตรการแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 รายใหม่ในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ออกมาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ครอบคลุมทุกมิติ อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศและเพิ่มรายได้ให้ประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่ ประชาชนอย่างทั่วถึงและเสมอภาค รวมถึงออกมาตรการการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยควรจะเร่งรัดการลงทุนโครงการขนาด ใหญ่ของรัฐ ให้มีเม็ดเงินกระจายลงไปในพื้นที่ทั้งโครงการ EEC และโครงสร้างพื้นฐานสร้างความเชื่อมโยง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง