ล่ามไทยในซาอุฯ ติดโควิดเสียชีวิต พบอาการแทรกซ้อน-โรคประจำตัว
วันนี้ (18 ก.ย.63) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค และ ผศ.นพ.พจน์ อินทลาภาพร ผอ.โรงพยาบาลราชวิถี ร่วมกันแถลงข่าวกรณีที่มีผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตที่ รพ.ราชวิถี
นพ.สมศักดิ์ กล่าวยืนยัน มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิต 1 ราย คือ นายอะห์มัด มะมิน อายุ 54 ปี เป็นล่ามของกระทรวงแรงงาน ประจำกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย พบประวัติตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างอยู่ประซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม แต่อาการไม่หนักแพทย์จึงให้กลับมารักษาตัวยังที่พัก
ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม อาการหนักขึ้น แพทย์จึงรับรักษาตัวที่โรงพยาบาล ไม่สามารถหายใจเองได้ หัวใจหยุดเต้น 1 ครั้งแพทย์ปั๊มหัวใจกลับคืนมา
ญาติมีความประสงค์ขอนำตัวมารักษาต่อที่ประเทศไทย โดยมีการตรวจหาเชื้อก่อนเดินทาง 2 ครั้ง ผลไม่พบเชื้อ
จากนั้นได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วย ด้วยเครื่องบินขนส่งผู้ป่วย Air Ambulance ซึ่งมีระบบป้องกันตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
ผู้ป่วยเดินทางถึงประเทศไทย วันที่ 2 กันยายน เพื่อทำการรักษาต่อ แต่อาการทรุดลง พบว่าปอดได้รับความเสียหายอย่างหนัก และมีการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ดื้อยา ซึ่งแพทย์ได้ทำการรักษาตามอาการ โดยให้ยาปฏิชีวนะหลายขนาน แต่อาการไม่ดีขึ้นเนื่องผู้ป่วยมีอาการหนักมาตั้งแต่ประเทศต้นทาง และมีโรคประจำตัวหลายโรค ทั้งความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน
จนกระทั่งช่วงเที่ยงที่ผ่านมา ผู้ป่วยได้เสียชีวิตลง นับเป็นผู้เสียจากโรคโควิด-19 รายที่ 59 ของไทย
อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุถึง กระบวนการรักษาของผู้เสียชีวิตรายนี้ ในช่วงที่อยู่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ว่า ไม่ได้รับยาต้านเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่แรก อีกทั้งผลตรวจไม่พบเชื้อในช่วงหลัง แต่แพทย์ได้ทำการรักษาภาวะแทรกซ้อนตามอาการอื่นๆ
ขณะที่ ผศ.นพ.พจน์ ระบุว่า ผู้เสียชีวิตรายดังกล่าว แรกรับพบว่ามีปัญหาเรื่องปอดอักเสบต่อเนื่อง แม้อาการจะดีขึ้น แต่ติดเชื้อปอดอักเสบจากแบคทีเรียดื้อยาแทรกซ้อน ทางแพทย์ รพ.ราชวิถี ได้ให้ยารักษาต่อเนื่อง
ต่อมา พบว่า ทางเดินหายใจและปอด โดยปอดด้านขวา มีเงาทึบ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้ป่วยมีภาวะปอดอักเสบรุนแรงจากโควิด จนเกิดพังผืดในปอด ทำให้หายใจลำบาก รักษาไม่ถึง 10 ชม. ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และให้ยา โดยผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น 1 ครั้ง แพทย์ปั๊มหัวใจ มีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบาดเจ็บ เมื่อตรวจคลื่นหัวใจพบว่ายังผิดปกติอยู่ ตลอดการดูแลรักษาก็ผิดปกติต่อเนื่องมาตลอด
ทั้งนี้ เชื้อแบคทีเรียชนิดที่ดื้อยาที่เกิดกับผู้ป่วยโควิด-19 รายนี้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกรายไม่ใช่เฉพาะผู้ป่วย โควิด-19
ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ระบุว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ ซึ่งได้เคยแถลงข่าวไปแล้ว เป็นผู้ป่วยลำดับที่ 3,430 ในวันที่ 4 ก.ย.63 โดย ทีมระบาดวิทยาสอบสวนโรคว่าติดเชื้อจากประเทศซาอุฯ เบื้องต้นไม่พบมีใครในประเทศเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยรายนี้.
Cr.ภาพจาก www.mol.go.th
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE