หวั่น “กระสุนยูเรเนียม” ทำวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนรุนแรงขึ้น
ทำความรู้จักกระสุนยูเรเนียม
กระสุนยูเรเนียม (depleted uranium) ที่สหราชอาณาจักรกำลังจะส่งให้กับยูเครนคืออะไร? มาทำความรู้จักกันคร่าว ๆ ก่อน
กระสุนที่สหราชอาณาจักรกำลังจะส่งให้กับยูเครน ใช้คำว่า depleted uranium shells ซึ่งเป็นกระสุนปืนใหญ่ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ Uranium-238 / ไอโซโทป Uranium-235 น้อยกว่าปกติ เป็นส่วนที่เหลือจากการสกัดยูเรเนียมธรรมชาติสำหรับนำไปใช้ในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ไอโซโทปรังสีที่ใช้ทำเชื้อเพิลงนิวเคลียร์ถูกสกัดออกไปแล้ว ที่เหลืออยู่ก็จะเรียกว่า “depleted uranium” หรือ ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ
ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะนี้ เป็นสารพิษและเป็นกากกัมมันตรังสี ต้องเก็บรักษานานในลักษณะกากนิวเคลียร์ที่ระดับรังสีต่ำจะมีการแปรรูปไปเป็นโลหะ หนึ่งในนั้นคือการเอามาผลิตกระสุน
คุณสมบัติของมันคือ มีความหนาแน่นสูงกว่าตะกัน 70% น้ำหนักมากกว่าตะกั่ว และสามารถเจาะเกราะรถถังได้
หวั่นกระสุนยูเรเนียมทำขัดแย้งยูเครนหนักขึ้น
เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวเมื่อวานนี้ (22 มีนาคม) ว่า สหราชอาณาจักรกำลังยกระดับสถานการณ์ขัดแย้งในยูเครน ขึ้นสู่ระดับใหม่ที่อันตรายมากยิ่งขึ้น จากการที่สหราชอาณาจักรตัดสินใจจะส่งกระสุนปืนใหญ่ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ (depleted uranium) ไปให้แก่ยูเครน และรัสเซียจะมีมาตรการโต้กลับ
ลาฟรอฟระบุว่า ประเทศตะวันตกขัดขวางการลงมติห้ามใช้กระสุนปืนใหญ่ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ และพยายามยืนยันว่า กระสุนยูเรเนียมไม่น่ากลัว แต่เขาเตือนว่าอย่าลืมผลลัพธ์ของการใช้กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะในอิรักและยูโกสลาเวีย ที่เกิดกับพลเรือนนับหมื่น ๆ คน แม้กระทั่งทหารของนาโตที่เป็นผู้ใช้กระสุนชนิดนี้เอง โดยมีรายงานการเกิดเนื้องอกและโรคอันตรายอื่น ๆ เพิ่มขึ้น
ลาฟรอฟยังเตือนยูเครนด้วยว่า ดินในยูเครนจะเป็นพิษไปอีกนานหลายทศวรรษ หากใช้กระสุนชนิดนี้
ด้านสำนักข่าว Interfax รายงานว่า เซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย เตือนว่า ขณะนี้เหลืออีกเพียงไม่กี่ก้าว ก่อนที่จะเป็นไปได้ว่า จะเกิด “การปะทะกันด้านนิวเคลียร์” ระหว่างรัสเซียกับประเทศตะวันตก
คำเตือนของรัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหมรัสเซีย มีขึ้น 1 วันหลังประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวเมื่อวันอังคาร (21 มีนาคม) ประณามแผนการของสหราชอาณาจักร ที่จะส่งกระสุนปืนรถถัง ที่ภายในบรรจุยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ ไปให้แก่ยูเครน บีบให้รัสเซียจำเป็นต้องโต้กลับ แต่ไม่ได้ระบุว่า รัสเซียจะโต้กลับอย่างไร จากกรณีการส่ง “อาวุธที่มีส่วนประกอบของนิวเคลียร์” ให้กับยูเครน
อังกฤษย้ำ กระสุนยูเรเนียมไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์
อย่างไรก็ตาม ทางด้าน เจมส์ เคลฟเวอร์ลี รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวล่าสุดเมื่อวานนี้ (22 มีนาคม) โต้การประณามของปูตินว่า แผนการส่งกระสุนยูเรเนียมให้แก่ยูเครน ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการใช้นิวเคลียร์ในความขัดแย้งยูเครน ตามที่ผู้นำรัสเซียกล่าวหาแต่อย่างใด และไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย เป็นเพียงการช่วยยูเครนป้องกันตัวเอง และยืนยันว่ากระสุนดังกล่าว มีความเสี่ยงต่อการแผ่รังสีต่ำ และย้ำว่ากระสุนนี้ไม่ใช่ “อาวุธนิวเคลียร์”
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (20 มีนาคม) สหราชอาณาจักรยืนยันว่า จะจัดส่งกระสุนปืนใหญ่หรือปืนรถถังที่ทำจากยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ ไปให้แก่ยูเครน กระสุนชนิดนี้สามารถยิงเจาะทะลุรถถังและยานเกราะต่าง ๆ ได้โดยง่าย เนื่องจากมีความความหนาแน่นและคุณสมบัติทางกายภาพอื่น ๆ
ขณะที่จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯบอกว่า กระสุนยูเรเนียมนี้ “ไม่ใช่สารกัมมันตรังสี” ไม่ใกล้เคียงกับการเป็นอาวุธนิวเคลียร์ เป็นเพียงกระสุนชนิดหนึ่งเท่านั้น
แต่หากรัสเซียกังวลเรื่องความปลอดภัยของรถถังและทหารของตน ก็ช่วยพาพวกเขาข้ามพรมแดนกลับรัสเซียไปปป เขาคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ รัสเซียเพียงไม่ต้องการให้ยูเครนยกระดับการโจมตีได้
IAEA เตือน ไม่ใช่รังสี แต่ก็เป็นสารเคมีเป็นพิษ อาจทำไตวายได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่ใช่ระเบิดนิวเคลียร์ หรือไม่ได้มีสารกัมมันตรังสีแผ่ออกมาจากอาวุธชนิดนี้ แต่ก็ยังจัดว่ามีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย
โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้อธิบายถึงกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะนี้ว่า “เป็นโลหะหนักที่มีพิษทางเคมี และทางรังสี”
ทำให้หน่วยงานด้านนิวเคลียร์ของ UN ได้ออกมาเตือนถึงโอกาสที่อาจเกิดอันตรายจากรังสีที่อาจแผ่ออกมาได้
IAEA เตือนว่า กระสุนดังกล่าวควรได้รับการจัดเก็บให้ดี และหากจะต้อง ถือหรือจับ กระสุนนี้ ก็ควรต้องสวมถุงมือก่อน และต้องแจ้งประชาชนทั่วไปว่า ให้หลีกเลี่ยงสัมผัสกระสุนชนิดนี้
IAEA ระบุว่า กระสุนยูเรเนียมนี้ แม้ว่าจะไม่ได้แผ่รังสีที่อันตรายออกมา แต่ก็จัดว่าเป็นสารเคมีที่เป็นพิษ อีกทั้งอนุภาคในละอองก็สามารถเข้าสู่ร่างกาย ผ่านการสูดดม หรือกินเข้าไปได้ ซึ่งแม้ว่าจะถูกขับออกมาได้ แต่บางส่วนก็สามารถเข้าสู่กระแสเลือดและทำให้ไตเสียหายได้
“หากมีความเข้มข้นสูง กรณีรุนแรงอาจทำให้ไตวายได้”
—————
แปล-เรียบเรียง: ภัทร จินตนะกุล
ภาพ: Reuters
ข้อมูลอ้างอิง: