พลิกวิกฤตดรามา ‘ป้าย Bangkok’ แจกฟรี ‘ฟอนต์เสาชิงช้า’ เชิญครีเอทได้ตามใจ
วันนี้ ( 30 พ.ค. 67 ) เป็นดรามาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลในช่วงนี้ สำหรับการเปลี่ยนป้ายกรุงเทพ หรือ Bangkok บริเวณสกายวอล์คแยกปทุมวัน หลังจากป้ายเก่าหลุดลอก แต่ก็มีกระแสเปรียบเทียบว่าป้ายเก่าเหมือนจะดูดีกว่า สำหรับป้ายใหม่ที่ใช้ตัวอักษร ‘ฟอนต์เสาชิงช้า’ บนพื้นเขียวนั้นดูเหมือนห้างสรรพสินค้ามากเกินไป อีกทั้งยังมีกล่าวถึงเรื่องการใช้งบถึง 3 ล้านบาทเพื่อทำการรีโนเวทใหม่ ซึ่งทางกรุงเทพมหานครนั้นได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าเป็นการสื่อสารผิดพลาด โดยงบ 3 ล้านไม่ได้แค่ติดป้ายอย่างเดียว แต่เป็นการจ้างเหมาเอกชนดำเนินการกำหนดอัตลักษณ์ และภาพลักษณ์หลักของกรุงเทพมหานคร ทั้งระบบ ทั้งตราสัญลักษณ์ แบบอักษร ระบบการใช้ต่างๆ
ถึงแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บ้าง แต่ตัวอักษรแบบไทยก็เป็นที่ชื่นชอบอยู่ไม่น้อย เนื่องจากแสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน ล่าสุดทางกรุงเทพมหานคร ได้เปิดให้ประชาชนดาวน์โหลด‘ฟอนต์เสาชิงช้า’ ไปใช้ โดยสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ที่ www.pr-bangkok.com (เมื่อเข้าไปที่ลิงค์แล้วให้เลือกที่ ดาวน์โหลด และเลือกที่ ฟอนต์ Sao Chingcha )
ทั้งนี้ ‘ฟอนต์เสาชิงช้า’ มีต้นแบบมาจากตัวอักษรไทยนริศที่อยู่ในตราสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานครซึ่งมีมาดั้งเดิม คือภาพสัญลักษณ์พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณที่อาศัยภาพวาดของกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นต้นแบบ
กทม.ได้มีการออกแบบและเริ่มนำฟอนต์เสาชิงช้ามาใช้ในการสื่อสารผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ปลายปี 2566 โดยทุกหน่วยงานในสังกัด กทม. ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ที่เป็นอัตลักษณ์ รวมถึงการใช้สีหลักคือสีเขียวมรกตที่นำมาใช้บ่อยที่สุด และสีรองอีกหลากหลายสีที่ใช้ในการออกแบบตกแต่ง การวางโลโก้ กราฟิก การออกแบบภาพ ฯลฯ ซึ่งได้กำหนดไว้ในคู่มือการใช้อัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร และนำไปปรับให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชิ้นงาน โดยประชาชนจะได้เห็นตัวอักษรเสาชิงช้าบ่อยขึ้นตามสื่อต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็น ป้าย สื่อวีดิทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ รวมทั้งของที่ระลึกต่าง ๆ ด้วย
ข้อมูลจาก: กรุงเทพมหานคร
ภาพจาก: กรุงเทพมหานคร