รีเซต

คลัง แนะ ผู้หลุดเกณฑ์เยียวยา 5 พัน ยังมีสินเชื่อดอกเบี้ย 0.1% รองรับ

คลัง แนะ ผู้หลุดเกณฑ์เยียวยา 5 พัน ยังมีสินเชื่อดอกเบี้ย 0.1% รองรับ
TNN ช่อง16
2 เมษายน 2563 ( 09:32 )
77

        วันนี้ ( 2 เม.ย.63) นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง)  กล่าวว่า   ที่ประชุม ครม.   มีมติเห็นชอบตามที่  นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เสนอให้ทบทวนมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19   ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม    โดยขยายจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์เยียวยาเพิ่มอีก 6 ล้านคน   รวมเป็น 9 ล้านคน   จากเดิมที่ 3 ล้านคน    สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40    รวมถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้อยู่ในประกันสังคมด้วย    เพื่อให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19    จะได้รับเงินชดเชยรายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน    เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน    โดยเงินชดเชยรายได้ระยะแรกจะถูกนำมาใช้ในเดือนเมษายน   จำนวน 45,000 ล้านบาท   เงินชดเชยดังกล่าว  ยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา    โดยให้กรมสรรพากรเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

        อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีพี่น้องประชาชนจำนวนมาก   ที่ยังขาดความเข้าใจในเทคโนโลยี Artificial Intelligence หรือ AI ที่ถูกนำมาใช้ในการคัดกรองคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน    ในเว็บไซด์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com  เพื่อรับสิทธิ์เงินเยียวยาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19    ซึ่งมีมากกว่า 22 ล้านคนแล้ว     โดยเทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ถูกแบรนด์ดังระดับโลกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย     และประสบความสำเร็จในแวดวงธุรกิจ ทั้ง Amazon, Google, Uber, Apple, Netflix และ Facebook     เพราะสามารถบริหารจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ   รวดเร็ว และมีความแม่นยำสูง   เมื่อเทียบกับการทำงานของมนุษย์ซึ่งอาจมีข้อผิดพลาด   รวมทั้ง  ยังสามารถเรียนรู้ (Machine Learning) และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกที่มีความซับซ้อนได้ด้วย    ดังนั้น ธนาคารกรุงไทยจึงเลือกใช้เทคโนโลยี AI เพื่อกลั่นกรองข้อมูลจำนวนมหาศาล     ที่เกิดจากการลงทะเบียนในระบบ โดยวิธีการตอบคำถามที่กระทรวงการคลังเตรียมไว้    หลังจากนั้น ระบบจะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการตอบคำถามของผู้ลงทะเบียน    โดยอ้างอิงจากข้อมูลที่เลือกและคำถามที่ตอบไว้    ซึ่งตรงนี้ระบบ AI จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดว่า   สอดคล้องกับคุณสมบัติที่ทางกระทรวงการคลังระบุไว้หรือไม่    โดยผลที่ได้จะมีความแม่นยำสูง ปราศจากความคิดเห็นส่วนตัวต่างจากมนุษย์   

         นอกจากนี้  นายชาญกฤช ยังได้แนะนำผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยา    จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า   สามารถเข้าร่วม "โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน“    เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19    โดยธนาคารออมสิน  และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท   แบ่งเป็นธนาคารละ 20,000 ล้านบาท   เพื่อปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.1% ต่อเดือน  วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 10,000 บาท เป็นเวลา 2 ปี   โดยไม่ต้องชำระเงินกู้ 6 เดือนแรก   ที่สำคัญคือไม่ต้องใช้หลักประกันใดๆ สามารถสอบถามรายละเอียด และยื่นเรื่องออนไลน์ได้ทั้งสองธนาคาร

         ส่วน “โครงการสินเชื่อพิเศษ” ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19  วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ให้ผ่อนชำระคืนนานถึง 3 ปี  โดยการค้ำประกันสามารถใช้บุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ได้   ซึ่งธนาคารออมสินเปิดให้บริการจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

 

 

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง