รีเซต

กะเหรี่ยงบางกลอย ยื่น 3 ข้อ กก.มรดกโลก จี้แก้ปัญหา ก่อนขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจาน

กะเหรี่ยงบางกลอย ยื่น 3 ข้อ กก.มรดกโลก จี้แก้ปัญหา ก่อนขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจาน
ข่าวสด
16 ธันวาคม 2563 ( 18:44 )
197

กะเหรี่ยงบางกลอย ลงชื่อทำหนังสือถึง กก.มรดกโลก ยื่น 3 ข้อเรียกร้องขอให้แก้ปัญหาก่อนขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจาน เผยรัฐไม่ทำตามข้อตกลง-แก้ปัญหาที่ทำกินไม่มีคืบ

 

วันที่ 16 ธ.ค.63 ชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จำนวน 23 คน เดินทางเข้าร่วมกิจกรรมในงานเสวนา "โค้งสุดท้ายกลุ่มป่าแก่งกระจานสู่มรดกโลก" ซึ่งจัดขึ้นที่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี โดยได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลก ผ่านสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ที่ปรึกษาของคณะกรรมการพิจารณาการขอขึ้นทะเบียนพื้นที่มรดกโลก (UNESCO) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาของชุมชนก่อนเดินหน้ายื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นผืนป่ามรดกโลก

 

 
 

หนังสือที่ส่งถึงคณะกรรมการมรดกโลกซึ่งชาวบ้านบางกลอยกว่า 100 คนร่วมกันลงชื่อมีข้อเรียกร้อง 3 ประการคือ 1.ขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านเสร็จสิ้นก่อน เพราะปัจจุบัน การแก้ไขปัญหายังแทบไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งที่เคยเจรจาว่า จะจัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละ 7 ไร่ จำนวน 107 ครอบครัวเมื่อปี 2539

 

แต่หลังใช้กำลังเจ้าหน้าที่บุกเข้ายึดและขับไล่ชาวบ้านออกจากบ้านเกิดในป่าใจแผ่นดินตั้งแต่ปี 2554 จนถึงวันนี้ พื้นที่ที่ชาวบ้านได้รับจัดสรรจริง กลับมีขนาดเพียง 2-3 ไร่ บางรายยังไม่ได้รับ อีกทั้งที่ดินยังอยู่ในหมู่บ้านโป่งลึก ซึ่งเป็นหมู่บ้านดั้งเดิม มีขนาดพื้นที่ทำกินน้อย จึงส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้อพยพใหม่ และชุมชนเจ้าถิ่นบ่อยครั้ง

 

2.ชาวบ้านบางกลอยขอกลับไปทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทย และ 3.ชาวบ้านบางกลอยบางส่วนต้องการกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม ซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านที่เคยขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อกลับไปใช้ชีวิตดังเดิม

 

นายพงศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอย กล่าวด้วยความอัดอั้นตันใจว่า หลายปีที่ชาวบ้านบางกลอย ถูกย้ายลงมาอยู่พื้นที่จัดสรรใหม่ ต้องลบล้างวิถีชีวิตเดิมที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ เช่น การทำไร่หมุนเวียน แต่เปลี่ยนเป็นไปปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น มะนาว ตามที่รัฐบาลส่งเสริม

 

ซึ่งการปลูกมะนาวนั้น มีข้อจำกัดเรื่องปัจจัยด้านราคาตลาด หากวันใด ราคาตก รายได้ก็ไม่คงที่ อีกทั้ง ชาวบ้านบางกลอยที่เคยเพราะปลูกแต่ไร่หมุนเวียน ก็ไม่มีความรู้ และไม่มีเงินทุนพอที่จะปลูกพืชชนิดนี้ได้ จึงส่งผลให้การส่งเสริมของรัฐล้มเหลว

 

"พวกเราไม่ได้คัดค้านเรื่องมรดกโลก แต่อยากให้รัฐบาลเปิดให้พวกเราที่อาศัยมาเป็นร้อยๆปี ได้มีส่วนร่วม มีส่วนเสนอความคิดเห็นเรื่องนี้ด้วย เพราะจนถึงวันนี้ พวกเรายังไม่เข้าใจเลยว่า พื้นที่ป่ามรดกโลกคืออะไร เพราะไม่เคยมีหน่วยงานใดลงมาอธิบาย

 

ที่ผ่านมาเวลาที่กรมอุทยานฯพาคณะทูตลงพื้นที่ พวกเรายังไม่รู้เลยว่าทูตอะไร ตอนที่เจ้าหน้าที่พาคณะกรรมการมรดกโลกมาลงพื้นที่เดือนพฤษจิกายน เราก็ไม่มีโอกาสได้พูด เพราะเขาไม่เปิดโอกาสให้เราพูดในสิ่งที่เราคิดเห็น หรือเรากำลังเผชิญเลย และยังทำข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษที่ชาวบ้านแบบพวกเรา ไม่เข้าใจอีกด้วย"ชาวบ้านบางกลอย กล่าว

 

 

ขณะที่ในเวทีเสวนาซึ่งมีตัวแทนชาวบ้านรอบกลุ่มป่าแก่งกระจาน กว่า 20 ชุมชนร่วมแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่สะท้อนข้อเท็จจริงที่ประสบโดยเฉพาะการถูกจับกุมและเกิดข้อพิพาทกับอุทยานฯ โดยชาวบ้านป่าหมาก ในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี อ.สามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นอีก 1 พื้นที่ที่รัฐบาลเสนอเป็นพื้นที่ป่ามรดกโลก ได้เรียกร้อง 4 ข้อ

 

คือ 1.ขอให้ยอมรับวิถีของชาวกะเหรี่ยงและสามารถอยู่แบบวิถีดั้งเดิม 2.ต้องให้พี่น้องกะเหรี่ยงมีสิทธิ์ในการจัดการตนเอง และสามารถจัดการทรัพยากรในชุมชนตนเองได้ 3.ต้องมีการจัดสรรที่ดินให้ครัวเรือนละ15ไร่ และทำแนวเขตชัดเจน 4.ต้องการพื้นที่แปลงรวมเพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนใช้สอยเก็บหาของป่า

 

"ตอนแรก อุทยานบอกจะให้เราครอบครัวละ 5 ไร่ แต่ถึงตอนนี้ ยังไม่มีการจัดสรรที่ดินให้ชัดเจน ยังไม่มีเเนวเขตแนวกั้นอะไรเลย เรายังไม่รู้เลยที่ดินตรงไหนเป็นที่ดินของเรา พวกเราบางส่วนถูกไล่จากที่ดินทำกินตั้งแต่ปี 2557 แล้ว

 

อีกอย่างหนึ่ง ที่เรากังวลมากๆคือ ที่ดินที่เขาจะจัดสรรให้เราครอบครัวละ 5 ไร่ซึ่งน้อยอยู่แล้ว เราใช้ทำกินได้เพียง 20 ปี จากนั้นจะเวนคืน แล้วแบบนี้อนาคต เราจะไปใช้พื้นที่ที่ไหนเลี้ยงตัวเอง " นางคนึง โคสิน ตัวแทนชาวบ้านป่าหมาก กล่าว

 

นางคะนึง กล่าวว่า ตอนนี้ เขตชุมชนบ้านป่าหมาก 150 ครัวเรือน หรือ 709 คนนั้น ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวจากรัฐ เช่น ปลูกกาแฟ แต่การปลูกกาแฟ นอกจากจะไม่ใช่วิถีดั้งเดิมที่มีความชำนาญแล้ว ยังไม่สามารถปลูกขายไปกินไปเหมือนกับไร่หมุนเวียนได้ เพราะไร่หมุนเวียน เป็นมีพืชหลายชนิด ตั้งแต่ข้าว พริก กระเทียม เป็นการเกษตรแบบผสมผสาน ถึงไม่มีรายได้ก็มีข้าวกิน การปลูกแต่กาแฟ หากขายไม่ได้ ชาวบ้านจะเอาอะไรเลี้ยงปากท้อง

 

ด้าน นางประไพร บุญชูเชิด ตัวแทนชาวบ้านลิ้นช้าง อ.หนองหญ้าปล้อง กล่าวว่า อยากฝากคำถามไปถึงรัฐบาล “พวกเราผิดด้วยเหรอที่ทำตามวิถีชีวิตของเรา ถ้าผิดก็ผิดตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ ตั้งแต่เกิดมาเป็นกะเหรี่ยงแล้ว พวกเราทำไร่หมุนเวียน ใช้ชีวิตตามวิถีของพวกเรามาเป็นร้อยสองร้อยปี เรามีเวลาพักฟื้นป่า เรามองว่านี่แหละที่ช่วยปกป้องป่า

 

แต่เขาออกกฎหมายมาไล่จับพวกเรา ห้ามพวกเรา เพราะคิดว่าเราสร้างมลพิษ เป็นตัวสร้างปัญหา แต่เวลาที่เขาให้คนนอกเข้ามาทำเหมืองแร่ ในพื้นที่ที่ทำลายป่า ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำไมไม่ไปจับ แต่กลับมาจับเรา เพราะเราเป็นกะเหรี่ยงเหรอ เราเป็นคนจนเหรอ"

 

 

ด้าน นายสมบัติ ชูมา ผู้ศึกษาและวิจัยกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกระเหรี่ยงกลุ่มป่าตะวันตกห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร จากสถาบันธรรมชาติพัฒนา กล่าวว่า กรณีศึกษาที่สำคัญที่ห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร ก่อนการประกาศเป็นมรดกโลก มีการกล่าวอ้างถึงความเป็นชุมชนอยู่ในพื้นที่ที่จะเตรียมประกาศอยู่แล้วในตอนนั้น คือมีการให้สิทธิ์อยู่ได้ แต่ให้กรอบการอยู่จะอยู่อย่างไร บอกว่าต้องมีป่ากันชนกี่กิโลเมตร มีการปลูกพืชเกษตร

 

แต่ปัจจุบันยังมีปัญหาอยู่ มีการจับกุมและดำเนินคดีที่กระทบต่อวิถีชีวิตไร่หมุนเวียนของพี่น้องกะเหรี่ยงโปว์ และปกาเกอะญอที่ทุ่งใหญ่นเรศวร แต่ถ้าที่ห้วยขาแข้งถูกไล่ออกเลย ขณะที่ในผืนป่าแก่งกระจานไม่ได้ระบุเลยว่ามีชุมชนอยู่ในป่า เพราะฉะนั้น ตัวของชาวบ้านก็จะต้องถูกเอาออก และจะหนักกว่าทางห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวรด้วย

 

ขณะที่ นายประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) กล่าวว่าเมื่อประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแล้ ชาวบ้านที่อยู่อาศัยมาก่อนป่า ก็จะถูกมองว่าเป็นศัตรูของมรดกโลก ศัตรูของอุทยาน และศัตรูของคนทั้งโลก ซึ่งชาวบ้านที่ถูกทำให้มองว่าเป็นผู้ร้ายอยู่แล้ว เพราะรัฐมองว่าการทำไร่หมุนเวียน เป็นการทำลายป่า

 

ทั้งที่ผลการศึกษาของกระทรวงเกษตรระบุว่า เป็นการรักษาป่า เมื่อรัฐไม่ยอมรับวิถีของพวกเขา ถึงแม้จะมีผลศึกษายอมรับ จากเดิมที่ชาวบ้านถูกทำให้เป็นศัตรูแค่กับอุทยาน ก็จะยกระดับให้ถูกมองเป็นศัตรูของคนทั้งโลกไปโดยปริยาย ทั้งๆ ที่ไม่ได้ผิดอะไร

 

อีกอย่างหนึ่งจะทำลายเรื่องของวัฒนธรรมของพวกเขา เช่น พิธีกรรม เวลาก่อนทำไร่ทำสวน ชาวบ้าน จะบูชาผี บูชาป่า ยืนยันถึงความเคารพในผืนป่า ความรักป่า แต่เมื่อพวกเขาต้องออกจากป่า หรือปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่รัฐสนับสนุน สิ่งเหล่านี้ก็จะหายไปด้วย ทำไมรัฐบาลถึงไม่ยื่นให้พิจารณาเป็นผืนป่ามรดกโลกทางวัฒนธรรมและมรดกโลกทางธรรมชาติควบคู่กันไป ทั้งที่ทำได้ และเกิดประโยชน์กว่าเพราะ ไม่เบียดเบียนคนตัวเล็กตัวน้อย

 

ทั้งนี้สื่อมวลชนได้สอบถามความคิดเห็นจากตัวแทนอุทยานแห่งชาติไทยประจันฯ และตัวแทนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลำน้ำภาชี ที่มาเข้าร่วมสังเกตการณ์ แต่ทั้งคู่ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆทั้งบนเวที และการสัมภาษณ์

 

อนึ่งการขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรกดโลก ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน , อุทยานแห่งชาติไทยประจัน , อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลำน้ำภาชี โดยรัฐบาลได้เสนอให้มีการพิจารณาต่อคณะกรรมการมรดกโลกถึง 3 ครั้งแล้ว แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณา เพราะยังไม่แก้ไขประเด็นข้อขัดแย้งกับชาวบ้านในที่อาศัยในพื้นที่ป่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง