ย้อนดูดรามา ‘วัดภูม่านฟ้า’ ปัญหานี้เริ่มจากอะไร จนล่าสุดถกเถียงบนเวทีโลก

ข้อพิพาทชายแดนปะทุสู่ข้อกล่าวหา “วัดภูม่านฟ้า” สร้างเลียนแบบนครวัด
นอกจากประเด็นข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชาที่กำลังเป็นปัญหา กระแสดรามาเกี่ยวกับ “วัดภูม่านฟ้า” ก็กลับมาเป็นที่ถกเถียงกันอีกครั้ง หลังเคยเกิดความขัดแย้งในลักษณะเดียวกันเมื่อ 4 ปีก่อน โดยมีต้นตอของปัญหาจากข้อกล่าวหาว่าการก่อสร้างวัดดังกล่าวลอกเลียนแบบปราสาทนครวัด จนล่าสุดกลายเป็นประเด็นละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เรามาดูกันว่าต้นตอของปัญหานี้เริ่มจากอะไร และ กลับมาเป็นเรื่องให้ชาวเน็ตได้ถกเถียงกันอีกรอบ
จุดเริ่มต้นของข้อกล่าวหา “วัดภูม่านฟ้า ” ลอกแบบนครวัด
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 โลกโซเชียลของกัมพูชาเกิดกระแสวิพากษ์ร้อนแรง หลังมีการแชร์ภาพของ “วัดภูม่านฟ้า” พร้อมกล่าวหาว่าประเทศไทยได้ก่อสร้าง “อาณาจักรสีหนคร” ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับนครวัด–นครธม อันเป็นมรดกโลกและศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของชาวกัมพูชา
โดยวัดดังกล่าวได้รับการอนุญาตให้สร้างเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2562 สิ่งก่อสร้างภายในวัดเป็นการแกะสลักหินทรายเป็นรูปทรงต่างๆ คล้ายกับศิลปะอินเดีย และ อาณาจักรขอม จุดประสงค์ของวัดคือการสร้างวัดให้สวยงามและเพื่อให้เป็นแลนด์มาร์คการท่องเที่ยว ดึงดูดผู้คนให้เข้ามาทำบุญที่วัด
ฝั่งไทยชี้แจงข้อครหา ไม่ได้สร้างตามศิลปะของกัมพูชา
พระอาจารย์สมศักดิ์ สังวรจิตโต เจ้าอาวาสวัดภูม่านฟ้า ได้ออกมาชี้แจงในเวลานั้นว่า สถาปัตยกรรมของวัดเกิดจากนิมิตและจินตนาการในเชิงพุทธศิลป์ มิได้ลอกเลียนนครวัดหรือสถานที่ใดโดยเฉพาะ พร้อมยืนยันว่าโครงสร้างภายในวัดเป็นเพียงหอพระ 3 หลังที่ใช้หินทรายในการก่อสร้าง และภาพถ่ายที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด อ่าน : เทียบ “วัดภูม่านฟ้า” กับ “นครวัด” ต่างกันอย่างไร
ทางวัดยังได้เผยแพร่แถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก ยืนยันว่า “วัดภูม่านฟ้าไม่ได้ลอกเลียนแบบมาจากที่ใด การเข้าใจผิดเกิดจากมุมกล้องและความสวยงามของภาพถ่าย ไม่ได้เป็นการจงใจล้อเลียนศิลปะของกัมพูชา” หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป อ่าน : ทำความรู้จัก “วัดภูม่านฟ้า” แลนด์มาร์คน่าเที่ยวแห่งเมืองบุรีรัมย์
ดรามาลุกฮือขึ้นอีกเพราะฝีมือ ยูทูบเบอร์ชาวกัมพูชา
แม้ดรามาจะเงียบไปช่วงหนึ่ง แต่ในเดือนกันยายน 2566 กระแสในกัมพูชาก็กลับมาระอุอีกครั้ง หลังจากยูทูบเบอร์ชาวกัมพูชารายหนึ่งเผยแพร่คลิปวิจารณ์วัดภูม่านฟ้าอย่างหนัก โดยกล่าวหาว่าการก่อสร้างวัดนี้เป็นการแอบอ้างทางวัฒนธรรมและเรียกร้องให้ยูเนสโกเข้ามาตรวจสอบ
ต่อมา กระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์ของกัมพูชาได้ออกแถลงการณ์เพื่อลดกระแสสังคม โดยระบุว่า ทางการกัมพูชาได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบแล้ว และได้มีการประสานงานกับฝ่ายไทยเพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งก่อสร้างดังกล่าวไม่ได้คัดลอกแบบปราสาทนครวัดโดยตรง
ในขณะเดียวกัน ก็มีชาวกัมพูชารายหนึ่งออกมาระดมทุนเงินบริจาคโดยอ้างว่าจะใช้เดินทางไปตรวจสอบวัดภูม่านฟ้าด้วยตนเอง แต่ภายหลังก็ยกเลิกโครงการ พร้อมระบุว่าจะนำเงินไปบริจาคเพื่อการกุศลอื่น ๆ แทน โดยไม่สามารถคืนเงินได้ สร้างความงุนงกให้แก่ผู้ที่บริจาคเป็นจำนวนมาก
ขุด “วัดภูม่านฟ้า” เป็นประเด็นอีกรอบในปี 2568
แม้กระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์ของกัมพูชาจะเคยชี้แจงว่าได้ส่งผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบวัดภูม่านฟ้าแล้ว แต่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ดร.เฟือง สกุณา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ได้นำประเด็นนี้กลับมาพูดอีกครั้งในการประชุมทางเทคนิคของคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์นครวัด โดยระบุว่าการก่อสร้าง “สีหนคร” ที่มีแบบแผนใกล้เคียงนครวัด เป็นการละเมิดอัตลักษณ์และจิตวิญญาณทางวัฒนธรรมของกัมพูชาอย่างชัดเจน อีกทั้งยังถือเป็นการผิดพันธกรณีของไทยในฐานะภาคีอนุสัญญามรดกโลก พ.ศ. 2515 (1972) อย่างร้ายแรง.
เรื่องไปถึงเวทีมรดกโลก ฝ่ายไทยลุกขึ้นชี้แจง ขอย้ำอีกครั้ง! “ไม่ได้เลียนแบบ”
ข้อพิพาทเรื่องวัดภูม่านฟ้าได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกอีกครั้งในเวทีระดับโลก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 47 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2568 ณ ประเทศอินเดีย รัฐมนตรีวัฒนธรรมของกัมพูชาได้แถลงในที่ประชุม เรียกร้องให้ยูเนสโกตรวจสอบวัดภูม่านฟ้า โดยกล่าวหาว่ามีการลอกเลียนแบบนครวัด
ฝ่ายไทยโดยนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้ชี้แจงอย่างชัดเจนว่า วัดภูม่านฟ้าเป็นวัดพุทธที่มีแรงบันดาลใจจากศิลปะหลายแหล่งในประเทศไทย ไม่ใช่การลอกเลียนแบบ พร้อมแสดงความผิดหวังต่อคำกล่าวของฝ่ายกัมพูชา และย้ำว่าประเด็นนี้ควรหารือกันในระดับทวิภาคี ไม่ใช่ในเวทีมรดกโลก อ่าน : ไทยโต้กัมพูชาปม “วัดภูม่านฟ้า” ไม่ได้เลียนแบบนครวัด
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
