รีเซต

เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายคดีจำนำข้าว

เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายคดีจำนำข้าว
TNN ช่อง16
2 เมษายน 2564 ( 15:45 )
195

วันนี้ (2เม.ย.64) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ฟ้องคดีที่1  ,นายอนุสรณ์ อมรฉัตร ผู้ฟ้องคดีที่2 กับ นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ,รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงการคลัง, สำนักนายกรัฐมนตรี, กระทรวงการคลัง ,กรมบังคับคดี,อธิบดีกรมบังคับคดี, เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร 6 ผู้ถูกฟ้องคดีที่1-8ซึ่งศาลมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีทั้ง 4 คดี เข้าด้วยกัน


ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่1-4 ได้มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ลงวันที่13 ต.ค.2559 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6


กรณีผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรีและในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการตามอำนาจหน้าที่ และคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7-9 ที่ให้ทำการยึด อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด 


พร้อมกับมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5,6รับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากคำสั่งดังกล่าว เป็นเงินจำนวน 50ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1ในส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2ได้รับความเดือดร้อนเสียหายการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4และที่ 6มีคำสั่งตามหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ กค 0206/ล 2174ลงวันที่30 ส.ค.2562ที่ยกคำร้องขอกันส่วนในฐานะเจ้าของรวมของผู้ฟ้องคดีที่ 2


คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยรวม 4ประเด็น ดังนี้


ประเด็นที่1 คำสั่งกระทรวงการคลังที่1351/2559ลงวันที่13 ต.ค.2559 เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่


พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การดำเนินการตามนโยบายจำนำข้าว ผู้ฟ้องคดีที่ 1ในฐานะนายกรัฐมนตรีและในฐานะประธานกขช. ต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบาย ลำพังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่มีอำนาจยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวได้ 


สำหรับขั้นตอนการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว ผู้ฟ้องคดีที่ 1ในฐานะประธาน กขช. ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อวางกรอบนโยบายในคราวการประชุม กขช. ครั้งที่ 1/2554และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตามมติของที่ประชุม จำนวน 12คณะ แต่ละคณะอนุกรรมการต่าง ๆที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นจะมีอำนาจหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการ, อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G TO G)


คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2554เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ โดยนายภูมิ สาระผล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น มีอำนาจและหน้าที่ในการอนุมัติพิจารณา จัดการ ดำเนินการและตรวจสอบ และคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการเจรจาการซื้อขายข้าวตามโครงการรับจำนำของรัฐบาลและเห็นชอบให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศนำผลการเจรจาต่อรองสุดท้ายเสนอประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวพิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบหมายให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในสัญญาซื้อขายในนามของรัฐบาลไทย


ผู้ฟ้องคดีที่ 1 มีอำนาจหน้าที่เพียงกำกับดูแลนโยบายโดยทั่วไประดับมหภาคของโครงการรับจำนำข้าว มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ไม่อาจที่จะรับรู้รับทราบข้อมูล การปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายของผู้กระทำผิดในระดับปฏิบัติ อีกทั้งฟ้องคดีที่ 1 มิได้เป็นผู้ปฏิบัติในฐานะเจ้าหน้าที่ดำเนินการต่าง ๆ ในการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และมิได้เป็นคณะอนุกรรมการตามที่ กขช. แต่งตั้งแต่อย่างใด


เมื่อมีการกระทำการทุจริตเกิดขึ้นในโครงการรับจำนำข้าว ผู้ฟ้องคดีที่ 1ได้มีคำสั่งคณะกรรมการด้านนโยบายข้าว ที่1/2556 แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลปริมาณข้าวคงเหลือของ อ.ค.ส. และ อ.ต.ก. มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและประมูลข้าวคงเหลือของโรงสี โกดังกลางที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวและมีการประชุมคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการอื่น ๆ อีกหลายครั้ง มีการใช้มาตรการทางอาญากับผู้ทุจริตหรือผู้กระทำผิดควบคู่กับการใช้มาตรการทางปกครองตัดสิทธิผู้สวมสิทธิเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว 


กรณีจึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1 มิได้เพิกเฉยละเลย แต่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่วิสัยและพฤติการณ์เพื่อป้องกันยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวแล้ว ส่วนกรณีที่ สตง. มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีที่ 1 จำนวน 3 ฉบับ เป็นเพียงข้อเสนอแนะนำให้รัฐบาลพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป สำหรับหนังสือ สตง. ลงวันที่ 30 ม.ค.57 แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาทบทวนและยุติโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาลต่อไปนั้น


เป็นหนังสือออกมาภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2556 ผู้ฟ้องคดีที่ 1เพียงรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงวันที่ 6 พ.ค.2557 และหนังสือดังกล่าวก็มิได้ปรากฏในคำสั่งพิพาทเพื่อใช้เป็นเหตุผลในการออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย กรณีที่ สำนักงาน ปปช. มีหนังสือ ลงวันที่30 เม.ย.2555 แจ้งผู้ฟ้องคดีที่ 1 


ซึ่งหนังสือดังกล่าวมีขึ้นล่วงหน้าก่อนที่จะเปิดโครงการรับจำนำข้าวสองวันเป็นการเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งมีลักษณะเป็นเพียงคำแนะนำ เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ 1ได้รับหนังสือแจ้งจาก สตง. และสำนักงาน ปปช. ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ก็ได้สั่งการตามอำนาจหน้าที่โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาป้องกันดูแลการทุจริตตามอำนาจหน้าที่แล้ว ผู้ฟ้องคดีที่ 1


ในฐานะนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลเชิงนโยบาย มีข้อราชการที่ต้องบริหารกำกับดูแลมากมาย มิจำต้องถึงขนาดที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1ต้องติดตามหนังสือสั่งการทุกฉบับและตรวจสอบการปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงาน ทุกหน่วยงานดังกล่าวด้วยตนเองทุกกรณี อีกทั้งหนังสือ สตง. และสำนักงาน ปปช. มิใช่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1ยังคงละเว้น เพิกเฉย ละเลย ไม่ติดตามหรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการตรวจสอบ


การที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เห็นว่า มีบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายคนในมูลละเมิดกรณีโครงการรับจำนำข้าว ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ฯ ที่จะต้องดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องอีกหลายคนต้องชดใช้ เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่อื่นที่มีส่วนต้องรับผิดในมูลละเมิดเดียวกันกับผู้ฟ้องคดีที่ 1รับผิดตามสัดส่วนเฉพาะในส่วนของตน แล้วจึงนำจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่ต้องรับผิดมากำหนดสัดส่วนความรับผิดของแต่ละคน มิใช่พิจารณาเพียงเสนอความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1ผู้เดียวเป็นผู้กระทำโดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการ อีกทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏในคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6ลงวันที่ 5 มิ.ย.63 


กล่าวโดยสรุปว่แต่โดยที่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดในชั้นการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1เป็นผู้สั่งการทำให้เกิดความเสียหายหรือเป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรงในการกระทำละเมิด… โดยถือว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1ในฐานะผู้บังคับบัญชามีส่วนเกี่ยวข้องใน 2ขั้นตอน คือ การเสนอโครงการและการเบิกจ่ายเงิน เสมือนเป็นทั้งผู้อนุมัติโครงการและผู้อนุมัติเบิกจ่ายเงิน จึงมีสัดส่วนความรับผิดในแต่ละขั้นตอน ร้อยละ 10 เมื่อรวม 2ขั้นตอนแล้ว คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง จึงเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ควรมีสัดส่วนความรับผิดเท่ากับ ร้อยละ 20 ของมูลค่าความเสียหาย จำนวน 178,586,365,141 บาท ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีที่ 1จึงต้องรับผิดจำนวน 35,717,273,028.23 บาท…


จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6ยอมรับว่าไม่มีหลักฐานแน่ชัดในการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1เป็นผู้สั่งการทำให้เกิดความเสียหายหรือเป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรงในการกระทำละเมิด การกำหนดสัดส่วนให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1รับผิดจึงมิได้เป็นไปตามมาตรา 10ประกอบมาตรา 8แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ประกอบกับข้อ 8-11และข้อ 17ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และไม่เป็นไปตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค0406.2/ว66 ลงวันที่ 25 ก.ย.2550


โดยศาลเห็นว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในแผนการบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าวแล้ว ให้มีผลผูกพันคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี และส่วนราชการ ที่จะต้องดำเนินการจัดทำภารกิจให้เป็นไปตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ร่วมกันจัดให้มีการประเมินความคุ้มค่าในการปฏิบัติภารกิจของรัฐที่ส่วนราชการดำเนินการอยู่เพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีสำหรับเป็นแนวทางในการพิจารณาว่า ภารกิจใดสมควรจะได้ดำเนินการต่อไปหรือยกเลิกและเพื่อประโยชน์ในการจัดตั้งงบประมาณของส่วนราชการในปีต่อไป


โดยในการประเมินความคุ้มค่า ให้คำนึงถึงประเภทและสภาพของแต่ละภารกิจ ความเป็นไปได้ของภารกิจหรือโครงการที่ดำเนินการ ประโยชน์ที่รัฐและประชาชนจะพึงได้และรายจ่ายที่ต้องเสียไปก่อนและหลังที่ส่วนราชการดำเนินการด้วย คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวไม่มีอำนาจหน้าที่ในการประเมินความคุ้มค่าในการปฏิบัติตามโครงการรับจำนำข้าว และไม่อาจพิจารณาเพียงจากผลกำไรขาดทุนทางบัญชี จากการซื้อและขายข้าวตามข้อมูลของคณะอนุกรรมการ ฯ โดยต้องคิดคำนวณการหักค่าข้าวเสื่อมคุณภาพ ข้าวคงเหลือในคลังสินค้า การระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลที่ยังคงเหลืออยู่ ซึ่งอยู่ระหว่างรอการระบายข้าวอยู่เป็นจำนวนมากให้ได้ข้อยุติก่อน


การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1และที่ 2มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะในส่วนการกระทำของผู้ฟ้องคดีที่ 1ในอัตราร้อยละ 20ของความเสียหาย คิดเป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท จึงไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1ประกอบกับการดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวมีการดำเนินการในรูปแบบของกรรมการซึ่งจะต้องอาศัยมติที่ประชุมเสียงข้างมาก แม้ผู้ฟ้องคดีที่ 1จะอยู่ในฐานะประธาน แต่ก็มิอาจมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ ยับยั้ง อนุมัติ เห็นชอบ หรือดำเนินการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของตนได้ ส่วนกรณีที่


ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1และที่ 2ได้นำการตั้งกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ยื่นญัตติต่อคณะรัฐสภา เรื่อง ปัญหาโครงการรับจำนำข้าวเกี่ยวกับการที่เกษตรกรถูกโกงความชื้น และระหว่างดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56ได้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ว่า การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ มีการทุจริตเกิดขึ้น มาประกอบการให้เหตุผลในคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้เงินค่าเสียหาย นั้น การตั้งกระทู้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี การลงมติไม่ไว้วางใจเป็นกระบวนการควบคุมและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่เป็นการคานอำนาจของฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติอันเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านในรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์) ได้รับมอบหมายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1เป็นผู้ตอบกระทู้ 


สรุปความได้ว่า…ได้มีการอนุมัติให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบลงพื้นที่ตรวจสอบทั้งหมด 10จังหวัด และในโครงการนี้ที่ผ่านมา ดีเอสไอ (DSI) ก็รับเรื่องของโครงการทุจริตที่จังหวัดกาญจนบุรีไปเป็นคดีพิเศษเรียบร้อยแล้ว…กรณีจึงฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1กระทำโดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการ ที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6ตามมาตรา 10ประกอบมาตรา 8แห่ง พ.ร.บ.ละเมิด ฯ


ประเด็นที่สอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5และที่ 6ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1อันเกิดจากคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใด


พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เป็นการใช้อำนาจตามข้อ 9-11ของระเบียบ ฯ และคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 12แห่ง พ.ร.บ.ละเมิด ฯ และข้อ 18ของระเบียบ ฯ ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5และที่ 6เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย และเมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1ต้องรับผิด จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5และที่ 6จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1


ประเด็นที่สาม คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ถึงที่ 9 ที่มีคำสั่งให้ทำการยึด อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด อันเป็นการบังคับตามมาตรการบังคับทางปกครอง สืบเนื่องจากคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่


ประเด็นที่สี่ คำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ตามหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ กค 0206/ล 2174 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2562 เรื่อง คำร้องขอกันส่วนในฐานะเจ้าของรวม เป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่


พิเคราะห์แล้วเห็นว่า  เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า คำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีเหตุที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ถึงที่ 9 จึงไม่มีอำนาจที่จะใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติฯ ดำเนินการยึด อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด และไม่มีอำนาจที่จะใช้มาตรการบังคับทางปกครองดำเนินการยึด อายัดทรัพย์สินที่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 อ้างว่าตนมีกรรมสิทธิ์รวมกับผู้ฟ้องคดีที่ 1 เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด โดยมีมูลเหตุมาจากคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย


พิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท เพิกถอนคำสั่ง ประกาศ และการดำเนินการใด ๆ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ถึงที่ 9 ในการยึด อายัดทรัพย์สินเพื่อดำเนินการขายทอดตลาดที่สืบเนื่องจากคำสั่งกระทรวงการคลังดังกล่าว และเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ตามหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ กค 0206/ล 2174 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2563 ที่ยกคำร้องขอกันส่วนในฐานะเจ้าของรวมของผู้ฟ้องคดีที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง