รีเซต

ผู้เชี่ยวชาญชี้เชื้อโควิดกลายพันธุ์เดลต้า กับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นทั่วโลก

ผู้เชี่ยวชาญชี้เชื้อโควิดกลายพันธุ์เดลต้า กับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นทั่วโลก
TNN ช่อง16
27 กรกฎาคม 2564 ( 08:35 )
50
ผู้เชี่ยวชาญชี้เชื้อโควิดกลายพันธุ์เดลต้า กับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นทั่วโลก

ปีนี้เป็นปีที่คนทั่วโลกเห็นข่าวเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น การพัฒนาตัวเองของไวรัสเป็นที่จับตาของนักไวรัสวิทยา เพราะเชื้อไวรัสที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่เข้าทางเจ้าไวรัส ก็คือ การกลายพันธุ์ในลักษณะที่ช่วยให้มันอยู่รอดและเพิ่มจำนวนขึ้นได้ ดังที่โลกของเรากำลังเผชิญกับเชื้อกลายพันธุ์หลายสายพันธุ์ 

องค์การอนามัยโลกจัดกลุ่มเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์ที่น่ากังวล มี 4 สายพันธุ์

1.อัลฟา (Alpha) พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร

2.เบต้า (Beta) พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้

3.แกมมา (Gamma) พบครั้งแรกในบราซิล

4.เดลต้า (Delta) พบครั้งแรกในอินเดีย

เชื้อเดลต้า เบอร์ 4 เป็นเชื้อกลายพันธุ์ตัวร้ายที่กำลังระบาดแทนที่เชื้อกลายพันธุ์ก่อนหน้านี้ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า เชื้อกลายพันธุ์เดลต้าระบาดกระจายไปใน 100 ประเทศและดินแดนทั่วโลก ณ เวลานี้ ซึ่งเชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้เปลี่ยนแปลงสมมติฐานไปมากมาย แม้จะพบเชื้อครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว แต่การศึกษาพัฒนาการของไวรัส เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไวรัสกำลังแพร่ไปทั่วโลก

ล่าสุด ชารอล พีคอค (Sharon Peacock) นักจุลชีววิทยา หัวหน้ากลุ่มหน่วยงานด้านสาธารณสุขและสถาบันการศึกษาในอังกฤษ COVID-19 Genomics UK Consortium หรือ COG-UK พูดถึงเชื้อโควิดเดลต้าว่า อาจเป็นความเสี่ยงใหญ่หลวงไปทั่วโลก โดยผู้เชี่ยวชาญคนนี้คาดเดาถึงทิศทางการระบาดของโควิด-19 ว่า โลกอาจเจอเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ปรากฏออกมา ซึ่งเชื้ออาจจะแข็งแกร่งกว่าเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า หรือ เชื้อเดลต้าอาจกลายพันธุ์อีกครั้ง ซึ่งตรงนี้ทีมผู้เชี่ยวชาญจำเป็นที่จะต้องถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสเพื่อศึกษาไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้ให้ถ่องแท้ นำไปสู่การรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ หรือไวรัสในอนาคต

ข้อมูลที่โลกรับทราบเกี่ยวกับเชื้อโควิดเดลต้า มี 3 ข้อ คือ 

- เชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

- อัตราการติดเชื้ออยู่ที่ร้อยละ 50 ถึง 60 ถือว่ามากกว่าเชื้อกลายพันธุ์ชนิดอื่น

- ความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันร่างกาย จะชัดเจนมากในคนที่ไม่ฉีดวัคซีน 

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านโควิด-19  จำนวน 10 ท่าน ที่กำลังศึกษาเกี่ยวกับเจ้าเชื้อไวรัสนี้ เห็นตรงกันว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อรุนแรง และการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ไม่ว่ามนุษย์จะติดเชื้อสายพันธุ์ใดแต่กลุ่มที่เสี่ยงสูงสุด ณ เวลานี้ คือคนไม่ฉีดวัคซีน 

ยกตัวอย่างในสหราชอาณาจักร กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยโรคควิด-19 เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว พบว่า ในจำนวนคนป่วย 3,692 คนที่รักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าถึงร้อยละ 58.3 ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนร้อยละ 22.8 ติดเชื้อแม้ฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งหลักฐานว่า ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ยังติดเชื้อโควิด-19 ได้ ก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสายพันธุ์ที่ติดแม้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็คือสายพันธุ์เดลต้านั่นเอง 

หลักๆ แล้วสิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับเชื้อโควิดเดลต้า ไม่ใช่ประเด็นที่คนป่วยอาการหนักขึ้นอย่างเดียว แต่คือ การแพร่เชื้อจากคนสู่คนที่ง่าย และเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ถึงขั้นที่นักวิทยาศาสตร์ ตั้งฉายาเชื้อกลายพันธุ์เดลต้าว่าเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่เร็วที่สุด คือ เชื้อแพร่เร็ว และระบาดในช่วงเวลาพอเหมาะที่สุด คือมาในช่วงที่บางประเทศดีใจที่คุมโควิดได้ กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ 

เพราะการศึกษาของทีมผู้เชี่ยวชาญที่ค่อยๆ เผยความลับการกลายพันธุ์ของเชื้อเดลต้าที่ส่งผลต่อร่างกายมนุษย์นี้ ออกมาในช่วงเวลาที่หลายประเทศทั่วโลก คลายมาตรการสกัดการระบาดของเชื้อไวรัสที่เข้มข้น ทั้งการปิดเมือง ควบคุมการเดินทาง และมาตรการต่างๆ รวมทั้งหลายประเทศกลับมาเดินเครื่องเศรษฐกิจกันแล้ว 

ดังนั้นการระบาดของเชื้อเดลต้าที่กำลังเดินหน้าระบาดไม่ลดละนั้น แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลอาจต้องหยิบมาตรการเคร่งครัดด้านสุขอนามัยกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ครั้งนี้จะบังคับใช้ยาวนานเท่าใด 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง