รีเซต

บริษัทโดลฯ ประกาศปิดโรงงานสับปะรดกระป๋องชั่วคราว ป้องกันโควิด

บริษัทโดลฯ ประกาศปิดโรงงานสับปะรดกระป๋องชั่วคราว ป้องกันโควิด
มติชน
2 กรกฎาคม 2564 ( 00:15 )
134

 

วันที่ 1 ก.ค. นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานสับปะรดกระป๋อง บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ต.หนองพลับ อ.หัวหิน ยังคงพบผู้ป่วยติดเชื้อในกลุ่มแรงงาน ซึ่งแม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่เนื่องจากเป็นโรงงานขนาดใหญ่มีพนักงานจำนวนมาก อาจทำให้การแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนเพิ่มขึ้น ดังนั้นเพื่อป้องกันยับยั้งการแพร่ระบาด จึงมีคำสั่งที่ 6337/2564 ให้ใช้ที่พักแอดเดอร่าหัวหิน เป็นสถานที่แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกตอาการ

 

 

สำหรับแรงงานที่เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานเหล่านี้จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ พร้อมกันนี้ ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ บูรณาการและมอบหมายโรงพยาบาลในเขต จ.ประจวบฯ จัดเจ้าหน้าที่เท่าที่จำเป็นมาปฏิบัติงานโดยสลับหมุนเวียนกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัย ให้นายอำเภอหัวหิน ประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและควบคุมดูแลตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้แรงงานกลุ่มเสี่ยงสูงซึ่งอยู่ในที่พักสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่อยู่ภายในห้องพักและปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

 

 

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า โรงงานสับปะรดกระป๋อง บริษัท โดลฯ ได้ออกประกาศยกระดับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 โดยระบุว่า เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาทางบริษัทได้ดำเนินการแยกและกักตัวพนักงานที่มีความเสี่ยงสูงและความเสี่ยงต่ำออกจากกัน และได้ประสานงานร่วมกับหน่วยงานราชการ สาธารณสุขจังหวัดฯ เพื่อให้พนักงานได้รับการตรวจหาเชื้ออย่างทั่วถึงทุกคนพร้อมทำความสะอาดฆ่าเชื้อทั้งที่โรงงาน หอพักพนักงาน และชุมชนโดยรอบเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

 

 

อย่างไรก็ตามขณะนี้พบว่าพนักงานที่มีความเสี่ยงสูงทั้งที่อยู่ระหว่างการกักตัว และบางส่วนที่พ้นกำหนดกักตัวแล้วมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและลดโอกาสการแพร่ระบาดไปสู่พนักงานคนอื่นและชุมชนโดยรอบที่มีโอกาสติดต่อกับพนักงานของบริษัท จึงได้มีการตัดสินใจยกระดับมาตรฐานการป้องกันเชิงรุกเพิ่มขึ้น ดังนี้

 

 

1. ระงับการเดินเครื่องจักรผลิตสินค้าทุกประเภทในโรงงานเป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 7 วัน เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อระหว่างพนักงานในไลน์การผลิต

 

 

2. ปรับวิธีการทำงานของพนักงานประจำสำนักงานและส่วนงานสนับสนุนให้ทำงานจากที่พักจนกว่าจะมีนโยบายเปลี่ยนแปลง

 

 

3. กำหนดให้มีการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ในกลุ่มพนักงานที่มีความเสี่ยงต่ำและไม่มีความเสี่ยงทุกคน ตามมาตรการเชิงรุกด้วยการตรวจซ้ำทุกๆ 7 วัน ทั้งหมด 3 ครั้ง

 

 

ทั้งนี้การยกระดับมาตรการป้องกันดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 64 เป็นต้นไป โดยเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามที่กำหนด ทางบริษัทจะพิจารณาแนวทางปฏิบัติงานที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้นต่อไป ซึ่งมาตรการที่ยกระดับนี้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติตามที่หน่วยงานระดับจังหวัดและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำหนด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง