รีเซต

คลังทบทวนแนวทางเก็บภาษีมรดก ปิดช่องเลี่ยงภาษี

คลังทบทวนแนวทางเก็บภาษีมรดก ปิดช่องเลี่ยงภาษี
ทันหุ้น
17 เมษายน 2567 ( 16:43 )
12
คลังทบทวนแนวทางเก็บภาษีมรดก ปิดช่องเลี่ยงภาษี

#ทันหุ้น-คลังทบทวนแนวจัดเก็บภาษีมรดก หลังบังคับใช้กฎหมายมาหลายปี แต่ยอดการจัดเก็บยังอยู่ในหลักร้อยล้านบาทต่อปี ชี้ต้องปรับเกณฑ์ในการจัดเก็บให้เข้มขึ้น เพื่อปิดช่องเลี่ยงภาษี ทั้งมูลค่ามรดกที่เริ่มจัดเก็บภาษีให้ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และ การแบ่งมรดกที่ทำให้ไม่มีภาระภาษี

 

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างทบทวนแนวทางการจัดเก็บภาษีมรดกใหม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม หลังจากที่มีการประกาศใช้กฎหมายระยะหนึ่งแล้ว แต่การจัดเก็บภาษีดังกล่าวยังทำได้ไม่มากนัก เพราะอาจจะมีบางเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นที่อาจทำให้การจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่น การจัดเก็บภาษีมรดกเฉพาะในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ก็อาจต้องดูให้เกิดความเหมาะสมมากขึ้น 

 

“ต้องยอมรับว่า ยังเก็บภาษีไม่ได้มากนัก เพราะเป็นภาษีชนิดใหม่ ซึ่งในช่วงแรกกระทรวงการคลังไม่อยากเข้มงวดมากเกินไป โดยเฉพาะในส่วนเงื่อนไข ข้อยกเว้นต่างๆ ที่อยู่ในภาษีมรดกที่ผ่อนปรนในระยะแรก ดังนั้น ต่อไปก็จะให้บังคับใช้เข้มงวดขึ้น เช่น การจัดเก็บมรดกเฉพาะในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ก็อาจต้องดูให้เกิดความเหมาะสมด้วย”

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า กระทรวงการคลัง ได้เริ่มบังคับใช้กฎหมายภาษีมรดกมาตั้งแต่ปี 2558 โดยกฎหมายดังกล่าวจะจัดเก็บภาษีจากมูลค่ามรดกที่ทายาทแต่ละคนได้รับ ซึ่งผู้รับมรดกเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี อย่างไรก็ดี แนวทางการจัดเก็บภาษีอาจมีข้อลดหย่อนที่เป็นประโยชน์กับผู้รับมรดก ทำให้ยอดการจัดเก็บภาษีมรดกนั้น อยู่ในระดับไม่มากนัก หรือประมาณ 3.6 พันล้านบาท หรือจัดเก็บได้เฉลี่ยหลักร้อยล้านต่อปีเท่านั้น

 

สำหรับภาษีมรดก ปัจจุบันเก็บที่ 10% ของมูลค่าสินทรัพย์ แต่มีเงื่อนไขยกเว้น อาทิ การจัดเก็บภาษีจะเก็บเฉพาะมรดกในส่วนที่มีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาทต่อคน ทำให้กลายเป็นช่องที่หลีกเลี่ยงภาษีได้ อาทิ บิดาเสียชีวิตมีมรดกอยู่ 300 ล้านบาท แบ่งให้ลูก 2 คนๆละ 100 ล้านบาท และญาติอีกคน 100 ล้านบาท เท่ากับว่ามรดกดังกล่าวจะไม่มีภาระภาษีเลย เนื่องจากได้รับมรดกไม่เกิน 100 ล้านบาท ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายเดิมสศค.เสนอว่า มูลค่ามรดกที่จะมีการจัดเก็บต้องเกินกว่า 50 ล้านบาทเท่านั้น 

 

นอกจากนี้ ยังมีความลักลั่นในการเสียภาษีสำหรับผู้รับมรดกต่างๆ ซึ่งรวมถึง ทรัพย์สินมรดกที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี อาทิ อสังหาริมทรัพย์ หุ้น ตราสารหนี้ เงินฝาก ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน ทรัพย์สินทางการเงิน ส่วนมรดกที่ไม่ต้องเสียภาษี เช่น เงินสด ทองคำ เครื่องเพชร พลอย ของสะสมของโบราณ และทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอาจเป็นช่องว่างให้เกิดการเล่นแร่แปรธาตุ เปลี่ยนการถือครองทรัพย์สินเป็นประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมรดก เช่น เปลี่ยนเป็นเงินสด ทองคำ หรือเครื่องเพชร แทนได้

 

ขณะที่ ข้อยกเว้นการเสียภาษีมรดกอื่นๆ อาทิ เจ้าของมรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่า มีความประสงค์ให้ใช้มรดกเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณะประโยชน์ หรือ หน่วยงานรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือ กิจการสาธารณะประโยชน์ หรือ บุคคล หรือองค์การระหว่างประเทศ ตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีต่อองค์กรสหประชาชาติหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ ก็จะไม่เสีย

 

ทั้งนี้ อัตราภาษีมรดกของไทยถือว่า ต่ำกว่าหลายๆประเทศที่จัดเก็บ โดยหลายๆประเทศในโลกที่มีการจัดเก็บภาษีมรดก ซึ่งส่วนใหญ่ เก็บภาษีจากการรับมรดก ( Inheritance) ควบคู่กับภาษีการให้ ( Gift Tax) นั้น เก็บในอัตราที่สูงกว่าประเทศไทยมากยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น จัดเก็บในอัตราก้าวหน้า ตั้งแต่ 10 –70% ,ฝรั่งเศส เก็บในอัตรา 35 % กรณีเป็นทายาทสายตรง แต่ถ้าไม่ใช่ญาติ จะจัดเก็บในอัตรา 60 % ,เกาหลีใต้ จัดเก็บในอัตราก้าวหน้า 10 -50% ,ส่วนสิงคโปร์ใช้วิธีการจัดเก็บจากกองมรดก ( Estate Tax) ในอัตราก้าวหน้า 5-10%  ,ไต้หวัน เก็บจากกองมรดก และภาษีการให้ โดยภาษีกองมรดก จัดเก็บในอัตราก้าวหน้า ตั้งแต่ 2-50% และภาษีการให้ อัตราก้าวหน้า 4-50%

 

อย่างไรก็ดี เหตุผลของการจัดเก็บภาษีมรดกนั้น ไม่ใช่เพื่อต้องการรายได้เข้ารัฐบาล แต่เพื่อความเป็นธรรมในสังคม และการกระจายรายได้ เนื่องจาก ทรัพย์สินที่พอกพูนขึ้น จนเป็นมรดกนั้น เกิดขึ้นจากการได้รับประโยชน์จากทรัพยากรที่รัฐได้ลงทุนในประเทศ จึงมีภาระที่สมควรที่ผู้ได้รับมรดก ควรมีภาระต้องจ่ายคืนให้รัฐ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง